ป่าแหว่ง “รื้อ หรือ ไม่รื้อ” 5 อันดับ แนวทางแก้ปัญหา…จากประชาชน 1,250 เสียง

จากข่าว “สร้างบ้านพักตุลาการบริเวณดอยสุเทพ” ที่เป็นประเด็นดราม่าถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้ว่าควร “รื้อ หรือ ไม่รื้อ” และหากเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาจากนั้นควรเป็นอย่างไร ทำให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเรื่องนี้ จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 คน คนไทยเสนอแนวทางแก้อย่างไรกันบ้างนั้น ลองมาอ่านกัน

 

อันดับที่ 5 : ยุติการก่อสร้าง และทำข้อตกลงไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย

เมื่อมีการก่อสร้างที่ทำให้เสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น หรือจากทั่วประเทศไม่พอใจ ประชาชนกว่า 2.80% จึงเสนอให้ยุติการสร้าง และทำข้อตกลงว่าจะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ตามมา

 

อันดับที่ 4 :  ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป และให้ตุลาการศาลไปใช้พื้นที่เหมือนเดิม เพราะถูกต้องตามกฎหมาย

ประชาชนกว่า 7.52% เลือกจะตอบข้อนี้ เพราะตามกฎหมายแล้วนั้น สามารถสร้างบ้านพักให้ตุลาการบริเวณนั้นได้ และมีการก่อสร้างไปมากกว่า 50% แล้ว ไม่มีเหตุสมควรอะไรที่จะต้องรื้อถอน

 

อันดับที่ 3 : ให้ยุติการก่อสร้าง และรื้อถอนบางส่วนที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม

ในทางกลับกันมีประชาชนกว่า 22.96% จากทั้งหมด เลือกให้ยุติการก่อสร้าง และรื้อถอนบางส่วนที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการยุติข้อพิพาทระหว่างคนท้องถิ่นกับรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังประนีประนอมกับภาครัฐ ไม่ต้องรื้อถอนโครงการทั้งหมด

 

Advertisements

อันดับที่ 2 : ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ไม่ต้องรื้อถอน แต่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์แทน

คล้ายคลึงกับอันดับที่ 4 มีประชาชนกว่า 25.92% จากทั้งหมด เลือกแนวทางนี้ เพราะเห็นว่าการก่อสร้างลุล่วงไปแล้วกว่าครึ่ง หากรื้อถอนอาจไม่คุ้มค่าลงทุน แต่เห็นว่าควรให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์แทนรัฐ เพราะเป็นสิทธิ์ที่ควรจะได้

 

อันดับที่ 1 : ให้ยุติการก่อสร้าง รื้อถอนบ้านพักทั้งหมด และปลูกป่าทดแทน

มีประชาชนเลือกแนวทางนี้มากถึง 37.36% จากทั้งหมด เห็นสมควรให้รื้อถอน และปลูกป่าทดแทน เพื่อคืนผืนป่าให้กับดอยสุเทพ เพราะสถานที่ดังกล่าว เป็นสถานที่สำคัญสำหรับเมืองเชียงใหม่ ควรอนุรักษ์ให้มีสภาพอย่างเดิม เพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม  และเพื่อทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” กลุ่มคนในพื้นที่ที่เป็นหัวหอกในการเรียกร้องให้มีการยุติโครงการนี้ จนเกิดเป็นกระแสวิพากย์วิจารณ์ทั้งประเทศ

 

และเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจ “ความคิดเห็นต่อการรื้อถอนบ้านพักตุลาการบริเวณดอยสุเทพออกทั้งหมด” พบว่า มีประชาชนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยคนเห็นด้วยถึง 53.84% ในขณะที่ไม่เห็นด้วย 43.68% ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจหัวข้อแนวทางการแก้ปัญหา

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลสำรวจนี้คือ เมื่อประชาชนถูกถามว่า “ทราบหรือไม่ ว่าตามกฎหมายแล้วสามารถสร้างบ้านพักบริเวณดอยสุเทพได้” พบว่ามีประชาชนกว่า 81.12% จากตัวอย่างทั้งหมดตอบว่า ไม่ทราบ

ในขณะที่ผลสำรวจในหัวข้อ “ความเหมาะสมในการสร้างบ้านพักตุลาการฯ” พบว่ามีประชาชนกว่า 85.20% ตอบว่าไม่เหมาะสม

ผลสำรวจทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่ความคิดเห็นของคนทั้งประเทศ แต่อย่างไรก็คือเสียงของประชาชน ซึ่งปัญหานี้จะถูกรัฐแก้ไขอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป

Advertisements

Advertisements

Advertisements