ไม่สบายใจ ปรึกษาหมอได้นะ!! 5 สัญญาณควรพบจิตแพทย์ คลายเครียดอย่างถูกวิธี

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าทุกวันนี้ หลายๆ คนยังคงเชื่อว่าการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์ แปลว่าคนๆ นั้นมีปัญหาทางจิต ฟั่นเฟือน หรือเป็นบ้าอยู่เลย ความจริงแล้วการเข้าพบจิตแพทย์ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนโรคจิตเสมอไปนะคะ ถ้าคุณจิตตก วิตกกังวล ไม่สบายใจ หรือรู้สึกเครียดบ่อยๆ ก็สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ได้เช่นกันค่ะ

 

สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าอาการอย่างเรานี่ควรเข้าพบจิตแพทย์หรือยัง UndubZapp ขอแนะ 5 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณควรเข้าพบจิตแพทย์ได้แล้ว หากคุณมีอาการที่เรากล่าวข้อใดข้อหนึ่งล่ะก็ ทางที่ดีลองไปพบแพทย์ดูสักครั้งนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่คิดว่าตัวเองมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าสูง ไม่ต้องรอให้ถึงขั้นโรคซึมเศร้าแผลงฤทธิ์ก่อนค่อยไปพบแพทย์นะคะ สามารถขอคำปรึกษาแพทย์ตอนที่สะดวกได้เลยค่ะ อย่างไรก็หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจของตนเองและคนใกล้ชิดด้วยนะคะ J

 

1.พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

ถ้าคุณเริ่มสังเกตว่าพฤติกรรมหลายๆ อย่างของคุณเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น เบื่ออาหาร ทานอาหารมากเกินปกติ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยขาดการยั้งคิด นอนไม่หลับ นอนนานผิดปกติ หรือปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ดูแลตัวเองเหมือนเคย นี่คือสัญญาณเริ่มต้นที่ชี้ว่าคุณควรหาเวลาเข้าพบจิตแพทย์ได้แล้วค่ะ

© รูปต้นฉบับ: , pexels.com

 

 

2.ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ

อาการเหม่อ ใจลอย เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน บางทีเราทำกิจกรรมนี้อยู่ แต่ใจดันลอยล่องไปนึกถึงอีกเรื่องหนึ่งเช่นนี้ก็มีถมไป แต่สำหรับบางคนที่มีอาการเหล่านี้มากๆ เป็นต้นว่า ไม่มีสมาธิในการทำงานเอาเสียเลย หัวโล่ง หลงลืมผิดปกติ ตัดสินใจหรือหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ตามที นี่ถือเป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่าการทำงานของระบบประสาทไม่โอเคแล้ว ต้องรีบพบแพทย์นะคะ

© รูปต้นฉบับ: , pexels.com

 

 

Advertisements

3.รู้สึกเครียดตลอดเวลา

ความเครียดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงวัยใด สภาพแวดล้อมรอบตัวที่คุณเผชิญอยู่ขณะนั้นก็ล้วนส่งผลให้เกิดความเครียดได้ทั้งนั้น แต่ถ้าคุณสังเกตเห็นได้ชัดว่าตัวเองรู้สึกเครียด วิตกกังวล กระวนกระวายใจ หงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา หรือมีอาการปวดศีรษะ ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับร่วมด้วย นี่คือสัญญาณที่ร่างกายบอกให้รู้ว่าสารเคมีในสมองบางตัวทำงานผิดปกติ หากปล่อยเบลอกับสถานการณ์ดังกล่าว อาจทำให้อาการทรุดลงกว่าเดิม ควรปรึกษาจิตแพทย์ให้ทันท่วงทีนะคะ

© รูปต้นฉบับ: , pexels.com

 

 

4.ย้ำคิดย้ำทำอยู่เสมอ

อาการย้ำคิดย้ำทำเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากการรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือหวาดกลัวตลอดเวลา อาการย้ำคิดย้ำทำเป็นการคิดแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่รู้จักจบสิ้น แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่อยากคิดหรือทำสิ่งนี้แล้ว แต่สมองก็ยังสั่งการให้ลูปอยู่กับแต่เรื่องนี้อยู่ดี ทำให้หมกมุ่นแต่เรื่องในอดีต คิดฟุ้งซ่าน สร้างความรำคาญใจไม่น้อย บางรายทุกข์ทรมานจากอาการดังกล่าวถึงขั้นคิดทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อให้หลุดจากวังวนความคิดก็มี ฉะนั้น ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการย้ำคิดย้ำทำ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รีบไปพบแพทย์เลยนะคะ

© รูปต้นฉบับ: , pexels.com

 

 

5.ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด

“ดื่มเหล้าคลายเครียด” และ “สูบบุหรี่คลายเครียด” คงเป็นคำพูดที่หลายๆ คนได้ยินมานักต่อนัก บางครั้งการที่ใครคนหนึ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือสูบบุหรี่อย่างหนัก อาจเป็นเพราะบุคคลนั้นๆ ต้องการหนีจากปัญหา จึงเลือกใช้สารเสพติดเพื่อให้สติขาดการรับรู้จากปัญหาที่มีอยู่ หากคุณตระหนักดีว่าสาเหตุที่คุณดื่มจัดหรือสูบจัดนั้น เป็นเพราะคุณต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาล่ะก็ ขอแนะนำให้เปลี่ยนมาพบจิตแพทย์จะดีกว่านะคะ แพทย์จะได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และคุณจะได้คลายเครียดอย่างถูกวิธีค่ะ

© รูปต้นฉบับ: , pexels.com

© Feature image  resource

Advertisements

Advertisements

Advertisements