หลังที่ประชุม สนช. รับรองตามมติครม. นำความกราบบังคมทูลเชิญ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช” ในฐานะ “องค์รัชทายาท” ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” หลายคนคงจะแอบสงสัยเหมือนอันดับแซ่บว่า เหตุใด จึงมีการขานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แทนที่จะขานพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ดังเช่น การขานพระนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 อันดับแซ่บได้ไปค้นหาคำตอบมาให้ค่ะ
ตามโบราณราชประเพณีของไทย เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง การขานพระนามขององค์รัชทายาทผู้ขึ้นสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่นั้น จะยังขานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยไม่มีคำว่า “พระบาท” ขึ้นต้น จนกว่าจะทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างสมบูรณ์ จึงจะขานพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และถวายพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่แสดงถึงความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี และเป็นแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยพิธีที่ถือว่าสำคัญในพระราชพิธีนี้คือ การสรงมรุธาภิเษก หรือการทรงรับน้ำอภิเษกโดยพระราชครูพราหมณ์ ตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพที่เสด็จลงมาเพื่อขจัดทุกข์เข็ญให้กับอาณาประชาราษฎร์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารให้มีความร่มเย็น และทรงทำนุบำรุงอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์
Advertisements
ขอบคุณข้อมูล dailynews.co.th, teachernew, coj.go.th, brh.thaigov.net , welovethaiking.com
Advertisements