มีคนบอกว่า “บุพเพสันนิวาส” ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์กันมากขึ้น เห็นจะจริงค่ะ เพราะในเรื่องนี้มีเกร็ดความรู้น่าสนใจหลายเรื่องที่น่าสนใจ วันนี้ Undubzapp จะมาพูดคุยกันในเรื่อง ดูละครสนุกกับ 4 เกร็ดความรู้จาก ละครพีเรียด “บุพเพสันนิวาส”
1. หมวกสีขาวทรงสูง
หมวกสีขาวทรงสูงที่เหล่าขุนนางสวมใส่ตอนเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์เรียกว่า ลอมพอก หรือ พอก หรือ พอกเกี้ยว ค่ะ ซึ่งถือเป็นเครื่องยศอย่างหนึ่งของขุนนาง ที่ช่วยกำหนดลำดับชั้นยศของขุนนางเป็นหมวกมียอดคล้ายชฎา ขอบหมวกมีสมรดสีเหลือง หรือ ดิ้นทองคาดเพื่อความสวยงาม เหนือสมรดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งมีเกี้ยวเป็นรูปวงกลม ประดับด้วยดอกไม้ไหวทองคำมีปลายแหลม นั่นหมายความว่า การจำแนกชั้นยศของขุนนางดูได้จากลักษณะของขอบลอมพอกตามลำดับค่ะ เช่น
– ออกญา ขอบของลอมพอกทำด้วยทองคำ และยอดแหลมประดับด้วยช่อมาลา
– ออกพระ ขอบของลอมพอกประดับด้วยช่อชัยพฤกษ์
– ออกหลวง ขอบของลอมพอกกว้างเพียงสองนิ้วและฝีมือประณีตน้อยกว่าของออกพระ
– ออกขุน และ ออกหมื่น ขอบลอมพอกทำด้วยทองคำหรือเนื้อเงินเกลี้ยง เช่นเดียวกันค่ะ
2. หลวงศรียศ
คนที่มาช่วยการะเกดจากจีนคุมซ่อง มีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือนามเดิมคือ เฉกอะหมัด ก่อนที่จะไปรู้จักหลาน เรามารู้จักกับตากันก่อนค่ะ เฉกอะหมัดเป็นชาวเปอร์เซียที่เข้ามารับราชการในอยุธยา ดูแลกรมท่าขวาที่ดูแลการค้าขายกับฝ่ายเปอร์เซียและแขก เป็นปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกและเป็นต้นสกุลบุนนาคอีกด้วย ส่วนหลวงศรียศนั้นได้เริ่มรับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้เป็นหลวงศรียศ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 2 ต่อจากตาด้วย โดนรั้งตำแหน่งนี้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา อีกด้วยค่ะ
Advertisements
© รูปต้นฉบับ: earthz_wisawawit
3. ตลาดบ้านจีน
ตลาดที่การะเกดอยากจะไปเยี่ยมชมมันมีความสำคัญอย่างไร เพราะการะเกดได้อ่านประวัติศาสตร์มาแบบพวกเรานี่แหละค่ะ พอได้มีโอกาสได้ย้อนเวลาไปจึงอยากจะไปเห็นด้วยตา ตลาดบ้านจีนอยู่ปากคลองขุนละคอนไชย หรือคลองตะเคียน ที่นี่เป็นตลาดโลกีย์เพราะมีหญิงโสเภณีนั่นเองค่ะ ตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาดค่ะ
4. ทำไมฟันของตัวละครบางตัวต้องดำ
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะคนไทยโบราณเห็นว่าฟันดำนั้นสวยกว่าปล่อยให้ฟันขาว พวกเขาจึงนิยมเคี้ยวหมากกันทั้งหญิงชายค่ะ สิ่งที่จะมายืนยันว่าคนไทยในสมัยก่อนนิยมฟันดำดูได้จากกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโสกของเจ้าฟ้ากุ้ง บทที่ 9 ที่ชมฟันผู้หญิงว่า “พิศฟันรันเรียงเรียบ เป็นระเบียบเปรียบแสงนิล” คำว่า นิล แปลว่า สีดำ แบบนี้เราถึงรู้ค่ะว่า ฟันที่ว่างามของหญิงสาวในทรรศนะเจ้าฟ้ากุ้งและคนไทยทั่วไปในยุคก่อน จึงหมายถึงฟันสีออกดำหาใช่ฟันขาวอย่างที่คนทุกวันนี้ค่ะ คนไทยปล่อยให้ฟันดำมาหลายร้อยปี จนมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องฟันดำมาเป็นฟันขาว แต่มาสำเร็จตอนสมัยรัชกาลที่ 8 ค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่มีสาระสำคัญไม่น้อยแบบนี้ ทำให้พวกเราดูละครอย่างเข้าใจและสนุกสนานมากขึ้น จริงไหมล่ะคะ
Advertisements