วัด ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนคนไทยมายาวนาน ชาวไทยทุกคนหากมีโอกาสต่างก็ปรารถนาที่จะสร้าง ทำนุบำรุงวัดเพื่อพระศาสนาได้คงอยู่ต่อไป ไม่เว้นแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินไทยที่ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวัดใดวัดหนึ่งขึ้นมาเป็นวัดประจำรัชกาล จะด้วยเป็นวัดที่ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง หรือทรงปฏิสังขรณ์ หรือมีความเกี่ยวข้องด้วยเหตุบางประการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดประจำรัชกาล นั่นเองค่ะ ด้วยเหตุนี้ วัดประจำรัชกาล จึงอาจพูดได้ว่า เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตยริย์
ทั้ง 9 วัดนี้ จึงมีทั้งวัดประจำรัชกาลแบบเป็นทางการ คือมีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น จะมีเพียงวัดประจำรัชกาลที่ 1-5 เท่านั้น และวัดประจำรัชกาลที่นับตามธรรมเนียมปฏิบัติ หรือมีความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับรัชกาลนั้นๆ โดยเริ่ม ในแผ่นดินรัชสมัย ล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า วัดมีเยอะแล้ว โปรดฯ ให้สร้างโรงเรียนประจำรัชกาล จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า
นับจากนั้นเป็นต้นมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 6-8 การสร้างวัดประจำรัชกาลจึงยุติไป แต่ใช้การถือเอาตามธรรมเนียม หรือเลือกวัดที่ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐสถานพระบรมอัฐิ (เก็บเถ้ากระดูก) ของรัชกาลนั้นๆ วันนี้เราจึงรวบรวมเอา 9 วัดประจำรัชกาลแห่ราชวงศ์จักรีมาให้ได้ทราบกันค่ะ ซึ่งแต่ละวัด มีความน่าสนใจและเหมาะที่จะหาโอกาศเข้าไปเยี่ยมชม กราบพระขอพรสักครั้ง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 1
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกหรือวัดโพธิ์ ตั้งอยู่ติดกับพระบรมหาราชวังวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธาราม ข้างพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่เมืองบางกอกตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ขึ้นเป็นวัดหลวง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐาน พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
นอกจากนี้ วัดโพธิ์ยังถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ อีกด้วย เนื่องจาก ในขณะบูรณะปฏิสังขรณ์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพความรู้ภูมิปัญญาไทยหลากหลายแขนงที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วก็อีกหนึ่งจุดเด่นที่หลายคนอาจจะไม่รู้คือ วัดนี้มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมียักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ตลอดจนตุ๊กตาหินจีนมากมายประดับอยู่ทั่ววัด ปัจจุบันยังเป็นที่สอนนวดไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอีกด้วย
Cr. watpho.com
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 2
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (หรือวัดแจ้ง) เป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 และที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 เนื่องจากในรัชกาลของพระองค์ ทรงทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดนี้ โดยทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปองค์ประธานด้วยพระองค์เอง แล้วพระราชธานนามใหม่ว่า วัดอรุณ และไฮไลท์สำคัญที่เรียกนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้หลั่งไหลมาประเทศไทย และวัดแห่งนี้ ก็คือ ภาพของพระปรางค์องค์ใหญ่ ที่ถูกใช้เป็นภาพตัวแทนโปรโมทการท่องเที่ยวของไทย ภาพพระปรางค์และหมู่เจดีย์ ที่มีฉากหน้าเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นตอนรุ่งเช้าหรือกลางคืนก็เป็นภาพที่สวยงาม สร้างความประทับใจให้กับผู้คนที่สัญจรไปมาทางเรือ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของ โบสถ์น้อยและวิหารน้อยที่มีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินและภายในเก็บรักษาพระแท่นที่เชื่อกันว่าเป็นพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่เชื่อกันว่าใครที่ได้คลานลอดใต้พระแท่นบรรทมแล้วจะโชคดี
Cr. tourism-spot.com
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 3
เชื่อกันว่าการที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่3 ทรงยกให้วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาล เนื่องมาจาก วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในถิ่นอันเป็นที่อยู่พระญาติฝ่ายพระมารดาของพระองค์ และครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะขึ้นครองราชสมบัติ ทรงต้องยกทัพไปรบกับพม่า และได้แวะพักทัพ ที่วัดแห่งนี้ ทรงอธิษฐานขอให้ได้ชัยชนะกลับมา และเมื่อทรงยกทัพกลับเนื่องจากทัพพม่าไม่ยกมาตี จึงทรงบูรณะวัดแห่งนี้ และพระราชทานนามวัดว่า วัดราชโอรส ที่หมายถึงพระโอรสของพระมหากษัตริย์ นั่นคือพระองค์เอง
ความน่าสนใจของวัดนี้ อยู่ที่สถาปัตยกรรมของวัดนี้ ที่ถือว่าเป็นวัดแรกของไทยออกแบบให้มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมจีน หลังคาเก๋งจีน มีการใช้กระเบื้องเคลือบสีประดับตกแต่ง ประดับตกแต่งด้วยสัตว์มงคลตามความเชื่อจีน เช่น มังกร หงส์ นกยูง ตุ๊กตาจีน
Cr. findthailand.com
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 4
วัวัดธรรมยุตนิกายวัดแรกในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น ในพระวิหารหลวงของวัดราชประดิษฐ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหังคปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่จำลองมาจาก “พระพุทธสิหิงค์” องค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่ง พุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภายในพระวิหารยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือนและพระราชพิธีต่างๆ ทั้งโล้ชิงช้า สงกรานต์ วิสาขบูชา และภาพที่รัชกาลที่ 4 ทรงส่องกล้องเพื่อศึกษาวิชาดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์สำคัญในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์สามารถคำนวณ และประกาศให้ประชาชนทราบว่า จะเกิดสุริยุปราคาขึ้น และมองเห็นอย่างชัดเจนในประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2411
Advertisements
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 5 และ 7
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักกรีถึงสองพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดนี้มีสถาปัตยกรรมผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก ทั้งพระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ และระเบียงแก้ว ล้วนตกแต่งด้วยลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ทั้งสิ้น ซึ่งทุกแผ่นเขียนด้วยมือ
นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดยังเป็นที่ตั้งของ ” สุสานหลวง” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “สุสานหลวง” ขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดา พระนัดดา และพระปนัดดา ได้อยู่ร่วมกัน หลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงสร้างขึ้นในสมัยหลัง อนุสาวรีย์ที่สุสานหลวงนี้ทำเป็นรูปเจดีย์ ปรางค์ และอาคารศิลปะยุโรป
Cr. dhammajak.net
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 6
วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงผนวชที่วัดแห่งนี้ ต่อมาจึงยกให้วัดแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 ความสำคัญของวัดแห่งนี้เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์และศาสนามาตลอด โดยวัดแห่งนี้เป็นวัดต้นแบบให้กับคณะธรรมยุต ธรรมเนียมประเพณีและแบบแผนต่าง ๆ ของคณะธรรมยุต เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์ เป็นที่กำเนิด มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของไทย และยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4-5-6-7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๙ ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวชเกือบทุกพระองค์
Cr. watbowon.com
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 8
วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหารเป็นวัดประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัธมรามาธิบดินทร รัชกาลที่8 มีจุดเด่นคือเสาชิงช้ายักษ์ใหญ่สีแดงสดที่ตั้งอยู่หน้าวัดนั่นเอง วัดนี้ จะมีพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประดิษฐานอยู่ สามารถเข้าไปสักการะได้ หรือจะเข้าไปสักการะพระบรมสรีรางคารที่บรรจุไว้ที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังค์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระอุโบสถด้วยก็ได้ค่ะ วัดนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
ใครผ่านไปผ่านมาแถวเสาชิงช้าต้องรู้จักวัดสุทัศน์ฯ แห่งนี้ แต่อาจคิดไม่ถึงว่า ภายในวัดแห่งนี้จะมีสิ่งน่าสนใจมากมาย ประวัติของวัดสุทัศน์ฯ เริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมามีการอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มาประดิษฐานไว้ที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังค์ประศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง พระศรีศากยมุนี นับว่าเป็นพระประธานสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พระวิหารคตทั้ง4ด้าน มีพระพุทธรูปปูนปั้น ทั้งหมด 156 องค์ ที่ช่างภาพนิยมมาถ่ายภาพเก็บไว้ นอกจากนี้ พระอุโบสถที่ได้ชื่อว่ายาวที่สุดในประเทศไทย ผนังรอบพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นแหล่งเรียนรู้จิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
วัดประจำรัชกาลที่ 9
วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก วัดตามแนวพระรามดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วัดขนาดเล็ก ใช้งบประมาณที่ประหยัดและเรียบง่ายที่สุด ประกอบด้วย พระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ สระน้ำ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระจำนวน ๕ หลัง โรงครัว และอาคารประกอบที่จำเป็น อาคารทุกหลังจะใช้สีขาวซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม ส่วนพระอุโบสถเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ แม้ไม่ได้มีการประกาศเป็นทางการว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 หรือไม่ แต่คนทั่วไปต่างเรียกขานว่าเป็นวัดประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
Advertisements