การศึกษาเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำตลอดชีวิต เพื่อความรู้ในการพัฒนาตนเอง สังคมรอบข้าง ไปจนถึงประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และในท้องถิ่น ทรงริเริ่มและพระราชทานจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียนในทุกระดับ ตลอดจนถึงการศึกษาค้นคว้าวิจัย และทดลองทางวิชาการและการปฏิบัติ และวันนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เว็บไซต์อันดับแซ่บ ขอรวบรวมรายชื่อโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณสืบไป
โรงเรียนจิตรลดา ห้องเรียนในรั้วบ้านพ่อ
เมื่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชันษาพอที่จะทรงศึกษาชั้นอนุบาลได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนชั้นอนุบาลขึ้นที่ห้องชั้นล่าง บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงให้พระราชธิดาและพระราชโอรสทรงเรียนร่วมห้องกับบุตรหลายข้าราชบริพาน ก่อนที่จะขยับขยายมาก่อตั้งเป็นโรงเรียนเต็มรูปแบบถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในพื้นที่สวนจิตรลดา ต่อมา จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนจิตรลดา”
โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ สร้างโอกาสเด็กชาวไทยภูเขา
เยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นที่ไกลการคมนาคมนั้น ก็ควรอ่านออก และเขียนได้ ควรรู้เรื่องวัฒนธรรมไทย เพื่อการปลูกฝังความเป็นไทยให้ชาวไทยภูเขา กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนจึงเริ่มมีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นที่อยู่ไกลการคมนาคมขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนให้กองกำกับการตำรวจชายแดนนี้ด้วย เพื่อจัดตั้งโรงเรียนให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มอีก กับมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบโดยเสด็จทำให้สามารถขยายการศึกษาให้เด็กในท้องถิ่นห่างไกลได้ทุกภาคทั่วประเทศ
Cr. : ku.ac.th
โรงเรียนร่มเกล้าฯ สถานศึกษาเพื่อเด็กตามแนวชายแดน
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ทหาร และตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบตามตะเข็บชายแดนไทย พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพบว่าในพื้นที่ชายแดนไทยยังขาดแคลนโรงเรียน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพภาคที่ ๒ สำรวจความต้องการของราษฎรและทางราชการ แล้วพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างโรงเรียนขึ้นพระราชทานนามว่า “โรงเรียนร่มเกล้าฯ” โรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่บ้านหนองแคน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ต่อมาได้สร้างเพิ่มเติมทั่วทุกภาคของประเทศ
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สถานศึกษาหลังภัยธรรมชาติ
เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๔ เกิดวาตภัยครั้งใหญ่ที่ภาคใต้ โรงเรียนถูกพายุพัดพังหลายพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบรรเทาทุกข์ของราษฎรได้มีผู้บริจาคเงินโดยเสด็จสมทบด้วย ได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิได้ร่วมกับจังหวัดที่ถูกวาตภัยจัดสร้างโรงเรียนขึ้นทดแทนโรงเรียนที่ถูกพายุพัดพัง ได้รับพระราชทานนามว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์” ต่อมาเมื่อเกิดสาธารณภัยในจังหวัดอื่น เช่น อัคคีภัย และโรงเรียนถูกทำลายก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทดแทนอีกหลายแห่ง
Advertisements
Cr. : ku.ac.th
โรงเรียนราชประชาสมาสัย สถานศึกษาของบุตรหลานผู้ป่วยโรคเรื้อน
ในสมัยก่อน โรคเรื้อน เป็นโรคที่น่ารังเกียจไม่แต่เฉพาะผู้ที่เป็นโรคร้ายนี้เท่านั้น แต่ยังทำให้บุคคลในครอบครัวผู้ป่วย ถูกรังเกียจไปด้วย โดยเฉพาะบุตรหลานของผู้ป่วยที่ถูกรังเกียจไปด้วยทำให้ไม่สามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โรงเรียนราชประชาสมาสัย” เป็นโรงเรียนประจำ ตั้งอยู่ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รับบุตรของคนไข้โรคเรื้อนซึ่งไม่มีเชื้อโรคเรื้อนเข้าศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเปิดรับรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ และได้ขยายชั้นเรียนจนถึงมัธยมศึกษา
โรงเรียนราชวินิต สถานศึกษาสำหรับบุตรข้าราชบริพาร
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานที่ดินวังสวนกุหลาบจัดสร้างโรงเรียนเพื่อให้บุตรข้าราชบริพารสำนักพระราชวัง กรมราชองครักษ์ กรมทหารมหาดเล็ก และเยาวชนบริเวณใกล้เคียงได้เข้าศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนราชวินิต” เป็นโรงเรียนราษฎร์ สอนถึงชั้นประถมปลาย ต่อมาได้ขยายเป็นโรงเรียนมัธยมราชวินิต สร้างขึ้นในที่ดินพระราชทานใกล้สนามม้านางเลิ้ง และได้สร้างเพิ่มอีก ๓ แห่ง คือ โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว โรงเรียนราชวินิตบางแค และโรงเรียนราชวินิตบางเขน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อื่น ๆ ด้วย เช่น โรงเรียน ภปร. ราชวิทยาลัย โรงเรียนวังไกลกังวล
Cr. : ku.ac.th
โรงเรียนพระดาบส สถานศึกษาสร้างอาชีพ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เปิดโรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้วิชาชีพต่างๆ โดยพระราชทานนามว่า “โรงเรียนพระดาบส” และพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมทั้งค่าอาหารสำหรับครูและนักเรียน เปิดรับสมัครนักเรียนโดยไม่จำกัดคุณสมบัติของผู้เรียนในเรื่อง วัย วุฒิ ฐานะ รวมทั้งทหารและตำรวจที่ทุพพลภาพจากการสู้รบ ในปี 2519 เปิดสอนวิชาชีพทางการช่าง ได้แก่ ซ่อมเครื่องไฟฟ้า ประชา วิทยุ เครื่องยนต์ การสอนมุ่งการปฏิบัติจริง ผู้เรียนสำเร็จจากโรงเรียนพระดาบสสามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองต่อไปได้
Advertisements