เรี่ยไร VS บริจาคต่างกันอย่างไร? ข้อควรทราบก่อนเรี่ยไรอย่างถูกต้อง

ทุกวันนี้เวลาเห็นโพสต์ข่าวเกี่ยวกับพี่น้องคนไทยประสบอุบัติเหตุ หรือตกอยู่ในความเดือดร้อน โพสต์ที่เรามักจะเห็นควบคู่กันมาก็คือ ใครสักคนเปิดรับบริจาคเงิน เพื่อนำเงินทั้งหมดที่ได้ไปร่วมด้วยช่วยแบ่งเบาภาระให้กับพี่น้องคนไทยที่กำลังเดือดร้อน

 

ด้วยความที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบวิธีการขอรับบริจาคที่ถูกต้อง จึงกลายเป็นว่าเกิดผลเสียกับตัวเองตามมา UndubZapp ขอแนะนำเรื่องที่ทุกคนควรรู้ และเรื่องที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการขอรับบริจาคเงิน ป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทตามมาในภายหลัง

 

เรี่ยไรกับบริจาคต่างกันอย่างไร?

 

  • ความหมายของคำว่า “การบริจาค” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิยสถาน พ.ศ.2542

หมายถึง การสละ การให้ การแจก

 

  • ความหมายของคำว่า “การเรี่ยไร” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิยสถาน พ.ศ.2542

หมายถึง ขอร้อง ให้ช่วยออกเงินทำบุญตามสมัครใจ

 

  • ความหมายของคำว่า “การเรี่ยไร” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487

หมายถึง การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ บริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยายว่า มิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วน ไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

 

ถ้าอยากเรี่ยไรเงินทำบุญต้องทำอย่างไรบ้าง?

การขออนุญาตทำการเรี่ยไรในที่สาธารณะ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์นั้น จะต้องได้รับการอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ผู้เรี่ยไรจำเป็นต้องระบุวัตถุประสงค์ วิธีการ จำนวนที่ต้องการ สถานที่ทำการเรี่ยไร ระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างชัดเจน ส่วนผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ต่างจังหวัด สามารถติดต่อขออนุญาตทำการเรี่ยไรในได้ที่ที่ว่าการอำเภอ

 

 

มีข้อห้ามในการเรี่ยไรเงินหรือไม่?

ข้อห้ามมิให้มีการเรี่ยไร (มาตรา 5) มีดังนี้

 

  1. การเรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้ หรือชดใช้แก่จำเลย เพื่อใช้เป็นค่าปรับ เว้นแต่จะเป็นการเรี่ยไรในระหว่างวงศ์ญาติของจำเลย

 

Advertisements

  1. การเรี่ยไรโดยกำหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นอัตราโดยคำนวณตามเกณฑ์ปริมาณสินค้า ผลประโยชน์ หรือวัตถุอย่างอื่น

 

  1. การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมทราบแก่ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

  1. การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนอย่างรุนแรงถึงทางสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

 

  1. การเรี่ยไรเพื่อจัดหายุทธภัณฑ์ให้แก่ต่างประเทศ

 

 

เงื่อนไขของผู้ขออนุญาตเรี่ยไร

การจะขออนุญาตทำการเรี่ยไรได้นั้น ผู้ขออนุญาตทำการเรี่ยไรต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

 

  1. อายุ 16 ปีบริบูรณ์
  2. ไม่มีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  3. ไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ
  4. ไม่เคยต้องโทษฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฏหมายลักษณะอาญา และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปี
  5. ไม่เป็นบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ

 

 

บทกำหนดโทษ

 

  1. ฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้จัดให้มีการเรี่ยไร เรี่ยไรโดยไม่รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร เรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

  1. ทำผิดเงื่อนไขในการอนุญาต ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรกำหนด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด หรือทำการเรี่ยไรโดยไม่มีใบอนุญาตติดตัว เมื่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้ประสงค์จะเข้าส่วนในการเรี่ยไรเรียกร้อง มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท

 

  1. ฝ่าฝืนข้อห้ามการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรมาในกิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่แสดงไว้ ผู้จัดให้มีการเรี่ยไรไม่รายงานเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเรี่ยไรได้มาที่ไม่ต้องจ่ายเพราะไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่แสดงไว้ หรือเหลือจ่ายเพราะเหตุใด ให้คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

  1. ในการเรี่ยไรใช้ถ้อยคำหรือวิธีการใดๆ ซึ่งเป็นการบังคับผู้ถูกเรี่ยไรโดยตรงหรือโดยปริยาย หรือซึ่งทำให้ผู้ถูกเรี่ยไรเกิดความหวาดหวั่นหรือเกรงกลัว มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว การขอรับบริจาคนั้น หากมีการหลอกลวงหรือมีเจตนาในการฉ้อโกง ประชาชนจะมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณี รวมถึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และอาจถูกตรวจสอบทรัพย์สินเนื่องจากฉ้อโกง

 

 

กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรเงิน

  1. พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487
  2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544
  3. ประกาศคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานรัฐ
  4. คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2539
  5. ประมวลกฏหมายอาญา

 

ที่มา รัฐสภาไทย parliament

Advertisements

Advertisements

Advertisements