อินซีรีส์หนัก ต้องอ่าน! 6 วิธีมูฟออนจากละคร จัดการอารมณ์อย่างถูกวิธี

ระหว่างที่ชีวิต New Normal ยังคงดำเนินต่อไป และการเว้นระยะห่างทางสังคมยังเป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่ เชื่อว่าหนึ่งในกิจกรรมทำคลายเหงาของหลายๆ คน ต้องเป็นการดูหนัง ซีรีส์ หรืออนิเมะอยู่ที่บ้านเป็นแน่ แต่บางครั้งบางทีการดูหนังแก้เบื่อติดต่อกัน หรือที่เรียกกันว่าดูแบบมาราธอนนั้น ก็อาจเป็นชนวนเหตุที่ทำให้หลายๆ คนอินกับหนังเสียจนมูฟออนจากหนังไม่ได้ก็เป็นได้

 

UndubZapp ขอแนะนำวิธีทำให้หายอินกับหนัง รับมือ Post-Series Depression อย่างถูกวิธี ถ้าการหลบหนีความโหดร้ายในโลกแห่งความเป็นจริง ไปอยู่ในโลกของหนัง ทำให้มูฟออนจากหนังไม่ได้จะทำอย่างไรดี ไปเรียนรู้พร้อมๆ กันเลยค่ะ ทั้งนี้ บทความนี้ขอพูดถึงการอินกับหนังและการอินกับซีรีส์ไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากพบว่าความเศร้าของหลายๆ คนอยู่ในบริบทเดียวกันนะคะ

 

แปลกไหมที่เราอินกับหนังมากเกินไป?

การอินกับหนังมากเกินไปไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเพียงภาวะหนึ่งทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคหรือกลุ่มอาการผิดปกติทางการแพทย์ ถ้าคุณกำลังเคว้งเพราะอินกับหนังอยู่ก็สบายใจได้ว่าคุณไม่ได้เป็นโรคอย่างแน่นอน

 

ทำไมเราถึงเศร้าหลังจากดูหนังจบ?

อาการเศร้า ซึม หน่วง ใจหาย ภายหลังการดูหนังหรือซีรีส์จบ เป็นภาวะที่เรียกว่า Post-Series Depression (PSD) และเป็นภาวะของอารมณ์ความรู้สึกที่เราสามารถหาวิธีรับมือให้อาการเหล่านั้นหายไปได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแพทย์แต่อย่างใด

 

โดยมากแล้ว ภาวะ Post-Series Depression มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ชอบดูหนังหรือซีรีส์แบบมาราธอน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Binge-Watching แปลว่า การดูหนังหรือซีรีส์แบบต่อเนื่อง ดูแบบยิงยาว หรือดูรวดเดียวให้จบทุกตอน/ทุกภาค โดยแทบไม่พัก

 

 

จากการศึกษาของนักวิจัยจาก University of Michigan โดย Jan Van den Bulck และ Liese Exelmans พบว่า การตั้งหน้าตั้งตาดูหนังหรือซีรีส์ทั้งหมดให้จบปึ้งในคราเดียวนั้น ทำให้เรารู้สึกราวกับว่าประสบความสำเร็จในบางเรื่อง สัมฤทธิ์ผลในบางสิ่ง ร่างกายจึงหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ออกมา ซึ่งสารโดพามีนถูกเรียกว่าเป็น สารเคมีแห่งรัก เนื่องจากเป็นสารที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจและความรักใคร่ชอบพอกับสิ่งต่างๆ จึงส่งผลให้เราเป็นสุขและอยากจะดูต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราคว้าชัยชนะมาได้อีก

 

เมื่อกระบวนการดูหนังหรือซีรีส์แบบมาราธอนสิ้นสุดลง ไม่ว่าตอนจบจะ Happy Ending หรือ Sad Ending ความสุขจากการดูหนังหรือซีรีส์ยิงยาวจะหยุดชะงักกะทันหัน ทำให้เราเกิดภาวะเครียดเฉียบพลัน เพราะจากเดิมทีที่เราเคยมีเป้าหมายว่าจะต้องดูหนังหรือซีรีส์เรื่องนี้ให้จบ เราจึงจะประสบความสำเร็จ แต่จู่ๆ ก็กลายเป็นว่ามาถึงทางตัน เราจึงนึกไม่ออกว่าควรจะทำอะไรต่อไปดี

Advertisements

 

หลังจากนั้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปิน รีลิสซิงฮอร์โมน (Corticotropin-Releasing Hormone : CRH) ออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ กระตุ้นให้ฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ตื่นตัวจากความตึงเครียด พอร่างกายตื่นตัว เราก็จะนอนไม่หลับ นอนหลับได้ไม่เต็มที่ เมื่อระบบในร่างกายทำงานไม่สมดุล ก็มักก่อให้เกิดอาการเคว้ง เศร้าซึม หน่วง ใจหาย หรือภาวะเครียดตามมา

 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราอินกับหนังมากเกินไป?

หากอยากรู้ว่าตัวเองอยู่ในภาวะ Post-Series Depression หรือไม่ ลองสำรวจอาการตัวเองหลังดูหนังหรือซีรีส์จบดูว่า มีอาการเหล่านี้หรือไม่ รู้สึกว่างเปล่า เคว้ง ดิ่ง ใจหาย หน่วง จิตตก เหมือนอกหักหรือผิดหวังจากบางเรื่อง เบื่อๆ อยากๆ กับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรดี ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณจะอยู่ในภาวะ Post-Series Depression

 

รับมือกับ Post-Series Depression อย่างไรดี?

ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า เราสามารถรับมือกับอาการ Post-Series Depression ได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีการเหล่านี้

 

  1. พูดคุยกับเพื่อนคอเดียวกันเรื่องหนังหรือซีรีส์ที่เพิ่งดูจบไป ให้ตนเองได้แชร์และระบายความรู้สึกที่คั่งค้างอยู่ในใจ เพื่อปลดปล่อยความคิดเกี่ยวกับเรื่องหนังหรือซีรีส์ที่เพิ่งดูจบไปออกไปบ้าง

 

  1. พยายามตั้งสติและโฟกัสอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด เป็นต้นว่า ถ้าขณะนั้นกำลังขับรถอยู่ ก็นำใจไปตั้งอยู่กับการขับรถให้ปลอดภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้จิตใจของตนเองไม่ฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องอื่นๆ

 

  1. หากิจกรรมอื่นๆ ทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเอง จากการจมจ่อมอยู่กับเรื่องหนังหรือซีรีส์ อาจเป็นการอ่านหนังสือ สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน หรือกระทั่งทำงานบ้านก็ยังได้

 

  1. เริ่มดูหนังหรือซีรีส์เรื่องใหม่ เพื่อให้ตนเองมูฟออนจากเรื่องราวในหนังหรือซีรีส์ที่เคยดูได้ แม้ว่าตอนดูเรื่องใหม่ช่วงแรกอาจรู้สึกเฉยๆ แต่อย่าเลิกล้มการดูเรื่องใหม่กลางคัน ดูต่อไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เปิดใจรับเรื่องราวใหม่ๆ ไปทีละนิด

 

  1. ปรับเวลาการดูหนังหรือซีรีส์ใหม่ มีข้อแม้ว่าต้องกำหนดชั่วโมงการรับชมให้แน่นอน ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรดูติดต่อกันหลายๆ ชั่วโมง และพยายามไม่ดูแบบรวดเดียวจบ เพื่อไม่ให้ตนเองติดกับลูปความเศร้ารูปแบบเดิมๆ

 

Advertisements

Advertisements

Advertisements