เมนูอาหารส่วนใหญ่ที่เรารับประทานกันทุกวันนี้ มักมีส่วนผสมของน้ำตาลแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติในตัวอาหาร หรือน้ำตาลจากฝีมือการปรุงแต่งของพ่อครัวแม่ครัวก็ตามที ดังนั้น ในหนึ่งวันคนเราจะได้รับปริมาณน้ำตาลจากหลายๆ ส่วนด้วยกัน UndubZapp ขอแนะนำ 8 ของหวานปริมาณน้ำตาลสูงที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดเสี่ยงฟันผุให้เพื่อนๆ ทราบกันค่ะ ของหวานดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างไรต่อสุขภาพฟันของเพื่อนๆ บ้าง ตามเราไปหาคำตอบกันเลยค่ะ!
น้ำตาลกับฟันผุ
ผลกระทบของน้ำตาลที่มีต่อฟันนั้นค่อนข้างกว้าง เพราะ น้ำตาล หรือ ซูโครส (sucrose) สามารถก่อให้เกิดได้ทั้งโรคฟันผุและโรคเหงือกในขณะเดียวกัน เนื่องจากน้ำตาลเป็นอาหารสำคัญของแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้เจอน้ำตาล แบคทีเรียจะสร้างสารเหนียวเด็กซ์แทรน (Dextrans) เกาะติดกับฟัน เสมือนแผ่นฟิล์มปกคลุมฟัน
หากแปรงฟันไม่สะอาด แบคทีเรียเหล่านี้จะเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นคราบพลักบนตัวฟัน หลังจากนั้น แบคทีเรียชนิดอื่นจะมาอาศัยในคราบพลัก แบคทีเรียที่มาอาศัยในคราบพลักจะเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นกรด ซึ่งกรดที่เกิดขึ้นตรงนี้จะทำลายสารเคลือบฟันไปเรื่อยๆ จนทำให้ฟันผุเป็นโพรง แล้วแบคทีเรียบนคราบพลักก็จะกลายเป็นหินปูนในเวลาถัดมา
นอกจากแบคทีเรียเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อฟันโดยตรงแล้ว ยังทำอันตรายต่อเหงือกและกระดูกที่ยึดฟันอีกทาง คือ ทำให้เหงือกอักเสบ เหงือกบวม เกิดการระคายเคือง และเลือดออก อย่างไรก็ดี การบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงไม่ใช่ปัญหาหลักที่ทำให้ฟันผุ จึงไม่ถึงขั้นต้องงดรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบโดยสิ้นเชิง เพราะจำนวนครั้งที่รับประทานเข้าไปสำคัญกว่าปริมาณที่ทานเข้าไป ถ้ายิ่งรับประทานน้ำตาลบ่อยและไม่ได้แปรงฟันด้วย จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุมากขึ้น ฉะนั้น ควรโฟกัสที่การแปรงฟันอย่างถูกต้องหลังอาหารเป็นประจำ เพื่อลดเศษอาหารซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียจะเข้าทีกว่า อาจพิจารณาเลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารฟลูออไรด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในการยับยั้งแบคทีเรียร่วมด้วย
ถ้าเพื่อนๆ ดูแลรักษาสุขภาพภายในช่องปากเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงภาวะฟันผุได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าไม่สะดวกแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ควรลดความถี่การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงให้เหลือเพียงวันละ 1 ครั้ง ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสม คือ ไม่ควรเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน
8 ของหวานปริมาณน้ำตาลสูงที่ควรหลีกเลี่ยง
8.ลูกอม
ลูกอม 2 เม็ด มีปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชา
7.ช็อกโกแลต
ช็อกโกแลต 1 ถุงเล็ก มีปริมาณน้ำตาล 3 ช้อนชา
6.นมเปรี้ยว
นมเปรี้ยว 1 ขวด มีปริมาณน้ำตาล 3.5 ช้อนชา
Advertisements
5.น้ำผลไม้
น้ำผลไม้ 1 ขวด มีปริมาณน้ำตาล 6.25 ช้อนชา
4.เยลลี่
เยลลี่ 1 ถุงเล็ก มีปริมาณน้ำตาล 7 ช้อนชา
3.เครื่องดื่มน้ำดำ
น้ำดำ 1 ขวด มีปริมาณน้ำตาล 8.5 ช้อนชา
2.ชาไข่มุก
ชาไข่มุก 1 แก้ว มีปริมาณน้ำตาล 11.25 ช้อนชา
1.ชาเขียว
ชาเขียว 1 ขวด มีปริมาณน้ำตาล 12 ช้อนชา
ที่มา สำนักทันตสาธารณสุข
Featured image ©unsplash.com
Advertisements