แทบไม่น่าเชื่อว่า ของใช้ในบ้านใกล้ตัวหลายต่อหลายอย่าง ถ้าใช้งานอย่างไม่ระมัดระวังหรือขาดความรู้ความเข้าใจก็อาจปล่อยสารก่อมะเร็งออกมได้ ทางที่ดี เราควรทำความเข้าใจและรู้จักเลือกใช้ให้ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับสารปนเปื้อนต่างๆ ที่อาจสะสมอยู่ในร่างกายได้ ส่วนของใช้ในบ้านที่เราว่ามาจะมีอะไรบ้างนั้น ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ!
1.กล่องโฟม
กล่องโฟมส่วนใหญ่มีสารสไตรีน (Styrene) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารสไตรีนนี้เป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง อุณหภูมิสูงเป็นปัจจัยที่ทำให้สารสไตรีนละลายได้ดี หากนำอาหารร้อนๆ ที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ไปใส่ในกล่องโฟมจะทำให้สไตรีนเข้าสู่อาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น คนที่รับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวันจะได้รับสารสไตรีนทีละน้อยๆ แต่ติดต่อกันยาวนาน จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าคนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งเต้านม สารนี้ยังอันตรายต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายด้วย
© รูปต้นฉบับ: Sid Balachandran , unsplash.com
2.กระดาษทิชชู
บ้านใดที่ใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหารควรอ่าน และไม่ควรทำเช่นนั้นอีก เนื่องจากกระดาษทิชชูหลายยี่ห้อผลิตจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล ซึ่งต้องผ่านกระบวนการตีวัตถุดิบด้วยสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ก่อนนำไปผลิตใหม่ และยังใช้สารไดออกซิน (Dioxins) ในการฟอกขาวด้วย เมื่อสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมันจะมีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้บริเวณที่สัมผัสสารอ่อนนุ่ม การสูดดมละอองสารดังกล่าวยังส่งผลให้ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ส่วนสารไดออกซินเป็นสารที่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้บริโภคจึงควรเลือกใช้กระดาษซับน้ำมันที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับอาหาร หรือกระดาษฟู้ดเกรด (Food grade) โดยเฉพาะ และควรเลือกยี่ห้อที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากลจึงจะดีที่สุด
© รูปต้นฉบับ: Julian Paolo Dayag , unsplash.com
Advertisements
3.ธูป
หลังการจุดธูปจะเกิดฝุ่นละอองและมลพิษมากมาย รวมถึงสารก่อมะเร็ง 3 ชนิดได้แก่ เบนซีน (Benzene) บิวทาไดอีน (Butadiene) และเบนโซเอไพรีน (Benzopyrene) หากสูดดมควันธูปเป็นระยะเวลานานจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งสูง ผลจากการวิจัยของ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ และ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า การจุดธูปเพียง 3 ดอก ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งเทียบเท่ากับการสูดควันบริเวณที่มีการจราจรคับคั่งเลยทีเดียว หากว่าจำเป็นต้องจุดธูปเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ควรเปลี่ยนมาใช้ธูปสั้นเพื่อลดปริมาณควัน จุดธูปในที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถ้าจุดบริเวณบ้าน ควรเปิดประตู หน้าต่าง รวมถึงเปิดพัดลมเพื่อระบายควันออกไปนอกตัวบ้านเสีย
© รูปต้นฉบับ: Graphic Node , unsplash.com
4.ยากันยุง
องค์ประกอบหลักของสารในยากันยุงคือสารกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroids) ซึ่งจะออกฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาต การสูดดมควันจากยากันยุงอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ เวียนหัว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาวหากสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน แม้ว่าจะพบผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสารชนิดนี้น้อยมาก แต่ผู้ที่สูดดมยากันยุงนานๆ ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปอยู่ดี หากจำเป็นต้องใช้ ควรเลือกยากันยุงที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) รวมถึงจุดยากันยุงไว้นอกบ้าน ไม่จุดยากันยุงในสถานที่ปิด และต้องล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสกับยากันยุงทุกครั้ง
© รูปต้นฉบับ: Hello I’m Nik 🇬🇧 , unsplash.com
Advertisements