ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ความมีน้ำใจ” เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หากว่าเราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น อาจเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงต้องการความรู้สึกว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความจริงใจ ไม่เห็นแก่ตัว ความมีน้ำใจ และการทำประโยชน์แก่ส่วนรวมจึงถือเป็นการสร้างสิ่งดีงามให้แก่สังคมนั้นๆ แต่หากว่าสมาชิกบางคนในสังคมต้องการความมีน้ำใจที่มากเกินปกติล่ะ จะทำอย่างไรดี? ตาม UndubZapp ไปดูกันเลย
1. ทำความเข้าใจใหม่
หากว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยกล้าทำอะไร และติดคำว่า “เกรงใจ” ใช้พูดกับทุกคนไปหมด อันดับแรกคุณต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “เกรงใจ” เสียใหม่ เกรงใจหมายถึง ไม่อยากให้ผู้อื่นรู้สึกลำบาก เดือดร้อน หรือรำคาญใจ เช่นว่า เราชอบสุนัข แต่ไม่อยากเลี้ยงสุนัขในที่พักอาศัย เพราะเกรงว่าเสียงสุนัขเห่าทั้งวันทั้งคืนจะไปรบกวนเพื่อนบ้าน เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองผู้อื่นเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ว่าเพื่อนร่วมงานขอให้เราช่วยทำงานให้เพราะต้องไปเดท เราเห็นว่าไม่สมควร แต่ไม่กล้าปฏิเสธจึงช่วย แบบนี้ไม่ใช่การเกรงใจ
2. หัดแสดงความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นของตัวเองทำให้คนอื่นเข้าใจเราได้มากขึ้น บางครั้งที่มีคนต้องการความช่วยเหลือจากเราจริงๆ และคิดว่าเราน่าจะช่วยได้ ถ้าเราบอกเขาไปว่าเราช่วยได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเรายังคิดหาวิธีไม่ออกเลย แต่กลับรับปากไป ลงท้ายแล้วเราก็ช่วยไม่ได้ นอกจากจะไม่มีอะไรคืบหน้า ยังเสียความรู้สึกกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเราบอกความคิดเห็นไปตามตรงเช่นว่า เราอยากช่วย แต่เราไม่น่าจะทำงานนี้คนเดียวได้ เพราะไม่เชี่ยวชาญ เช่นนี้ผู้ขอความช่วยเหลือก็จะได้ทราบว่าเขาสามารถพึ่งพาเราได้แค่ไหน จะเป็นทางออกที่ดีกว่า
3. พูดคำว่า “ไม่” ให้เป็น
หากว่าเราแสดงความมีน้ำใจแก่คนรอบข้าง แต่มีบางคนที่ต้องการให้เราช่วยเกินสมควร ขั้นต้นเราต้องพูดปฏิเสธให้ได้ ฟังดูเป็นเรื่องง่ายที่ทำได้ยากเหลือเกิน เพราะปัญหามันอยู่ที่หลายๆ คนไม่กล้าพูดนี่ล่ะ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ว่าใครจะขอให้ช่วยอะไรก็ไม่กล้าปฏิเสธ ตกปากรับคำไปหมด ต่อไปก่อนจะรับปากให้ความช่วยเหลือใดๆ คุณควรประเมินก่อนว่าสิ่งนั้นมันเกินขอบเขตที่คุณจะทำได้หรือเปล่า ถ้ามันมากเกินไป คุณก็ควรปฏิเสธและให้เหตุผลไปตามตรง เขามาขอความช่วยเหลือคุณนะ คุณมีสิทธิที่จะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ก็ได้
Advertisements
4. พัฒนาบุคลิกภาพ
สาเหตุหนึ่งของการที่ทำให้เราเป็นคนขี้เกรงใจ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง กลัวการเข้าสังคม กลัวการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงเป็นเหตุให้ต้องคล้อยตามคนอื่นแบบกลัวๆ กล้าๆ ทางแก้ของเรื่องนี้คือพยายามพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง ทำได้ทั้งการซื้อหนังสือมาอ่าน ซึมซับ และนำไปใช้ หรือเข้าคอร์สเรียนพัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งสามารถหาได้ง่ายมากในปัจจุบัน เมื่อคุณค่อยๆ พัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ จะทำให้คุณเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะทำให้คุณลดความเกรงใจโดยใช่เหตุ กล้าพูดกล้าปฏิเสธได้มากขึ้น
5. มองโลกในแง่ดี
การที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองกะทันหันภายในวันสองวันนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นในระหว่างที่คุณกำลังพยายามเปลี่ยนตัวเองทีละน้อย ลดความเป็นคนขี้เกรงใจทีละนิด เราอยากให้คุณไม่ท้อแท้ และมองโลกในแง่ดีเอาไว้ อย่าพยายามคิดอะไรไปในทางลบเสียหมด เช่นว่า ใครสักคนต้องการความช่วยเหลือจากคุณ คุณก็กลัวไปล่วงหน้า คิดแง่ลบไปก่อนเสียแล้วว่า ถ้าคุณปฏิเสธ เขาจะต้องไม่พอใจคุณแน่ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าคุณช่วยเขาไม่ได้ คนๆ นี้อาจไปตามหาคนอื่นๆ มาช่วยเขาอีกทอดก็ได้ ฉะนั้นพยายามคิดแต่เรื่องดีๆ เข้าไว้นะ
แซ่บกันต่อ…
>> งานเยอะ ปัญหาชีวิตรุม ก็โนว์ดราม่า!! 7 วิธีเคลียร์งานกองโต แม้วันที่รู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต
>> รู้แต่ไม่ทำ! 7 สูตรความสำเร็จ ที่รู้ๆ กันอยู่ แต่เรามักไม่อยากทำ
Advertisements