ขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อยู่ตรงไหน? คอมเมนต์อย่างไรไม่ถือว่าเป็นการล้ำเส้นผู้อื่น? UndubZapp ขอชวนชาวโซเชียลมาเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ และกฎหมายหมิ่นประมาท คอมเมนต์แบบไหนโอเค คอมเมนต์แบบไหนเสี่ยงถูกดำเนินคดี ขอเชิญเลื่อนลงไปด้านล่าง เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้เลยค่ะ!
หมิ่นประมาทคืออะไร?
หมิ่นประมาท คือ การแสดงออกหรือการกระทำของบุคคล โดยการพูด การกล่าววาจาประทุษร้าย การเขียนข้อความผ่านกระดาษ หรือสื่อความหมายผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้บุคคลอื่นรับรู้หรือเข้าใจได้ โดยมีเจตนาทำลายชื่อเสียง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ซึ่งตนกล่าวถึง ให้ถูกคนทั้งหลายดูหมิ่นดูถูกเกลียดชัง แม้ว่าถ้อยคำที่กล่าวออกมาจะเป็นถ้อยคำสุภาพหรือเป็นความจริงก็ตาม ทั้งหมดถือเป็นความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ
องค์ประกอบความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาท
- “ผู้ใด”
เป็นองค์ประกอบในส่วนของผู้กระทำความผิด เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทก็อาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
- “ใส่ความต่อบุคคลที่สาม”
เป็นองค์ประกอบในส่วนของการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท หมายถึง การไขข่าว หรือ ไขความอันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเป็นความจริงก็ได้ หรืออาจเป็นความเท็จก็ได้
- “ผู้อื่น”
เป็นกรรมแห่งการกระทำในองค์ประกอบภายนอก คือทำให้ทราบว่าหมายถึงใคร แต่ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อคนนั้น จะใส่ความคนแค่คนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ถ้าไม่เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะย่อมไม่เป็นความผิด แต่ถ้ากล่าวถึงกลุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเข้าใจได้ว่าหมายถึงทุกๆ คนในกลุ่มนั้น อาจเป็นความผิดได้
- “โดยประการที่น่าจะต้องทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง”
เป็นข้อเท็จจริงที่ใส่ความผู้อื่นถึงขนาดที่ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นว่าคุณค่า ชื่อเสียง หรือเกียรติยศของผู้ที่ถูกใส่ความลดน้อยลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความประพฤติที่เสื่อมเสีย พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม การทุจริตในหน้าที่การงาน รวมถึงปัญหาเรื่องฐานะทางการเงิน
- “โดยเจตนา”
เป็นองค์ประกอบภายใน ผู้กระทำต้องรู้สำนึกถึงการกระทำว่ามีการแสดงข้อเท็จจริงพาดพิงไปถึงผู้อื่น ถ้าผู้กระทำไม่มีเจตนาเช่นนั้นแล้วก็ไม่เป็นความผิด การโฆษณาหมิ่นประมาทในหนังสือพิมพ์ถือว่ากระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น
กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา
หมวด ๓
ความผิดฐานหมิ่นประมาท
————————-
มาตรา ๓๒๖๑ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Advertisements
มาตรา ๓๒๗ ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น
มาตรา ๓๒๘๒ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา ๓๒๙ ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๓๐ ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา ๓๓๑ คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๓๒ ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
(๑) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
(๒) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
มาตรา ๓๓๓ ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
ที่มา
Advertisements