การแสดงความรักกับลูก VS การล่วงละเมิด แบบไหนที่อยู่ในขอบเขต

ภายหลังจากที่มีประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรงเกี่ยวกับวิธีการแสดงความรักของพ่อกับลูก ซึ่งหลายคนมองว่าการสัมผัสใกล้ชิดบางอิริยาบถไม่เหมาะสม เข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็กมากเกินไป บ้างก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดาษดื่น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อสังคมได้นำเรื่องนี้มาวิพากษ์หาข้อสรุป ทำให้หลายคนตระหนักได้ว่า บางครั้งก็มีเส้นบางๆ ระหว่างการแสดงความรักและการคุกคามทางเพศอยู่

 

UndubZapp ขอชวนทุกคนมาถอดบทเรียนจากประเด็นดราม่า เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจสารัตถะเรื่องการแสดงความรักอย่างถูกต้อง และเพื่อให้รู้วิธีการวางตัวกับเด็กอย่างเหมาะสม ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานะพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิดก็ตาม

 

แสดงความรักต่อลูกแบบไหนไม่ให้ล้ำเส้น?

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า การที่พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่นต่อลูกเป็นเรื่องดีและถูกต้อง แต่เด็กจะต้องถูกสอนให้รู้จักขอบเขตในร่างกายของตัวเอง ต้องถูกสอนให้รู้จักการปกป้องสิทธิของตัวเอง ซึ่งผู้ปกครองควรเริ่มสอนเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่เด็กสามารถสื่อสารได้ หรืออายุ 1 ขวบปีขึ้นไป

 

ประเด็นสำคัญคือ การสอนให้เด็กรู้จักสิทธิในการปฏิเสธไม่ให้ผู้อื่นมาสัมผัสร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่อ่อนไหว ได้แก่ ปาก หน้าอก บั้นท้าย อวัยวะเพศ เพื่อให้เด็กเกิดการรับรู้ว่าอวัยวะเหล่านี้เป็นจุดที่ต้องป้องกันไม่ให้คนแปลกหน้ามาจับ และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่ควรรุกล้ำเขา ผู้ปกครองต้องเน้นย้ำให้เด็กเข้าใจในความแตกต่างระหว่าง “ความรัก” กับ “การสัมผัส” ว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่ก่อนหน้าที่จะสอนเรื่องการป้องกันอวัยวะนั้น ผู้ปกครองควรจะให้ความรู้เรื่องอวัยวะต่างๆ ก่อน

 

Advertisements

 

วิธีแสดงความรักต่อลูกอย่างเหมาะสม

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้ให้คำแนะนำเรื่องวิธีการแสดงความรักต่อลูกอย่างเหมาะสม ดังนี้

 

  1. พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจ ว่าลูกมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง “เสมอ”
  2. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างของการไม่ละเมิดสิทธินั้นเสียเอง เพื่อให้เด็กไม่เกิดความสับสน หรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะปฏิเสธผู้ใหญ่ไม่ได้
  3. หลายครั้งด้วยความรักและความใกล้ชิด เด็กๆ “ไม่สามารถ” กล้าปฏิเสธ สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด และบางครั้งเด็กก็เล็กเกินไป จนแยกไม่ได้ ระหว่างการแสดงความรักกับการถูกล่วงละเมิด
  4. การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว ดังนั้นผู้ใหญ่ในบ้านต้องช่วยกันสอดส่องดูแล
  5. สอนลูกเรื่อง “สิทธิในร่างกายตนเอง” ลูกเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง มีสิทธิปฏิเสธ ไม่ให้ใครมาวุ่นวาย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนในหรือนอกครอบครัว
  6. การแสดงความรัก ควรอยู่ในขอบเขตที่ไม่มากเกินไป และไม่สร้างความอึดอัดใจให้กับผู้รับ

 

  1. การแสดงความรัก การแหย่ การเล่น ไม่ควรลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว เช่น พื้นที่ในร่มผ้า หน้าอก ก้น อวัยวะเพศ และ “ทุกพื้นที่” ที่ลูกดูมีความอึดอัดใจเมื่อเราไปสัมผัส
  2. แม้เราจะแสดงความรัก แต่เมื่อลูกแสดงอาการปฏิเสธ แข็งขืน หรือดูอึดอัดใจ ให้เคารพความรู้สึกของลูกเสมอ
  3. สอนลูก ใช้ประโยคที่เข้าใจง่าย เช่น “มีบางคนเข้ามายุ่งกับร่างกายของเรา โดยที่เราไม่เต็มใจ และไม่อยากให้ทำ เช่น บางคนมาจับหน้าอก มายุ่งกับอวัยวะเพศ มากอด หอม หรือบางทีก็ให้เราไปจับของส่วนตัวเค้าโดยที่เราไม่ยินยอม แบบนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ และแม่อยากให้ลูกบอกผู้ใหญ่ให้รับรู้เสมอ”
  4. บอกลูกเสมอ ไม่ว่าจะอย่างไร “การถูกละเมิดไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ” ไม่ใช่ความผิดเพราะเราเป็นเด็ก เพราะเราแต่งตัวไม่เรียบร้อย ใส่ขาสั้น เมา หรือไม่ดูแลตัวเองให้ดี “ไม่มีใครมีสิทธิที่จะล่วงละเมิดใคร” ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไรก็ตาม
  5. บอกลูกว่าพ่อแม่จะอยู่กับลูกเสมอ ถ้ามีใครมาทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ ให้บอกพ่อแม่ได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม
  6. ไม่บังคับให้ลูกกอดหอมใคร หรือให้ใครมากอดหอมลูก โดยที่ลูกรู้สึกไม่เต็มใจ ลูกจะสับสนในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ และไม่แน่ใจในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตนเอง
  7. การโพสต์อะไรลงใน social ให้คิดไว้เสมอว่าสิ่งนั้นจะอยู่ที่นั่นตลอดไป ถ้าเป็นไปได้ควรไตร่ตรองสิ่งที่จะลงไป และขออนุญาตลูกก่อนลงทุกครั้ง

 

ที่มา Hfocus , เลี้ยงลูกนอกบ้าน

 

Advertisements

Advertisements

Advertisements