ทำใจอย่างไร ให้เอาชนะความเศร้า จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้

เมื่อ 13 ตุลาคม 2559 คนไทยทั้งประเทศต้องพบกับความสูญเสียครั้งสำคัญในชีวิตที่หลายคนยากจะลืมเลือน เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต และในเดือนตุลาคม 2560 นี้ คนไทยต้องเผชิญกับความรู้สึกสูญเสียอีกครั้ง เมื่อมีประกาศ หมายกำหนดการ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 หลายคนไม่อยากให้วันนั้นมาถึง ด้วยเหตุที่ยังทำใจไม่ได้ ยังไม่พร้อมกับการสูญเสียในครั้งนี้

เพื่อให้เราทุกคนได้เรียนรู้ เข้าใจ ปรับตัวต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น และก้าวผ่านห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้านี้ไปได้ อันดับแซ่บ ขอนำบทความ “วิธีเผชิญกับความเศร้าเสียใจจากการสูญเสีย” เขียนโดย อาจารย์ ดร. วไลลักษณ์ พุ่มพวง ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ได้อย่างเหมาะสมในความสูญเสียที่เกิดขึ้นค่ะ

เรียนรู้ เข้าใจ ปรับตัวต่อการสูญเสีย

เมื่อเกิดการสูญเสีย คนเราจะมีปฏิกริยาตอบสนองต่อการสูญเสีย คือ ความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เปรียบเสมือนแผลสดที่ต้องการการรักษา และหากได้ดูแลแผลเป็นอย่างดี แผลจะค่อยๆหาย แต่อาจเหลือรอยแผลเป็นไว้บ้าง แม้ว่าหลายๆการสูญเสียจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด โกรธ หรือสิ้นหวัง แต่ในทางกลับกันการสูญเสียก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา หรือ การเติมเต็มชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น การเข้าใจเรื่องความเศร้าเสียใจและการสูญเสียจึงเป็นสิ่งสำคัญในการให้การช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับความสูญเสีย อลิซาเบต คูเบอร์รอส อธิบายปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสูญสียไว้เป็น 5 ระยะ ดังนี้

ทำใจอย่างไรหากเกิดการสูญเสีย
© รูปต้นฉบับ: Waiting For The Word, flickr.com

ระยะที่ 1 ปฏิเสธ บุคคลจะไม่ยอมรับว่าเกิดการสูญเสีย บุคคลมักพูดว่า “ไม่จริง” “เป็นไปไม่ได้” ซึ่งการปฏิเสธในระยะนี้จะช่วยปกป้องบุคคลต่อความจริงที่เจ็บปวด

ระยะที่ 2 โกรธ เมื่อความจริงเริ่มปรากฎ บุคคลจะเกิดความรู้สึกเสียใจ รู้สึกผิด ละอายใจ รู้สึกไร้ความหวัง โทษตนเอง หรือคนอื่น รู้สึกโกรธตนเอง และคนอื่น มีความวิตกกังวลมากขึ้น สับสน และคิดกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่สูญเสียตลอดเวลา

ระยะที่ 3 ต่อรอง บุคคลจะพยายามต่อรองกับพระเจ้าให้มีโอกาสอีกครั้งหรือมีเวลามากกว่านี้ เพราะยังไม่พร้อมต่อการจากไปในตอนนี้ หรือบุคคลอาจคิดหาทางเลือกอื่นไว้เป็นความหวังโดยอาจมีคำพูด เช่น “ถ้าเราเป็นแฟนกันไม่ได้ เราเป็นเพื่อนกันได้ไหม”

ถ้าเราเป็นแฟนกันไม่ได้ เราเป็นเพื่อนกันได้ไหม

ระยะที่ 4 ซึมเศร้า บุคคลจะรู้สึกอาลัยต่อสิ่งที่สูญเสีย เป็นระยะที่เจ็บปวดมาก บุคคลจะเผชิญหน้ากับความรู้สึกของการสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่มีคุณค่า โดยอาจแสดงออกถึงการถดถอย การถอยหนี และแยกตัว

ระยะที่ 5 ยอมรับ บุคคลจะมีความวิตกกังวลลดลง และมีวิธีการในการจัดการกับการสูญเสีย การคิดกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียลดลง และมีความสนใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการสูญเสียในแต่ละบุคคลอาจไม่เรียงไปตามระยะที่กล่าวมานี้ บางคนอาจผ่านระยะหนึ่งไปแล้วและวนกลับมาที่ระยะเดิมได้

 

Advertisements

แนวทางที่จะช่วยให้บุคคลจัดการกับความเศร้าเสียใจจากการสูญเสีย ประกอบด้วย

1. ให้เวลากับความรู้สึกเศร้าเสียใจ ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีที่จะเรียนรู้และอยู่กับชีวิตที่มีการสูญเสีย

2. แสดงความรู้สึกออกมา ความรู้สึกต่างๆ เช่น โกรธ กังวล โดดเดี่ยว และรู้สึกผิด เป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นที่บุคคลต้องการที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความรู้สึกเหล่านี้ออกมา โดยอาจผ่านการเล่าเรื่องของผู้ตายหลายๆครั้งเท่าที่ผู้เล่าอยากจะเล่า

3. สร้างตารางกำกับการทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้การก้าวผ่านแต่ละวันเป็นไปได้ง่ายและเกิดความเชื่อมั่นในการเผชิญชีวิตต่อไป

4. ไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถามในชีวิต สิ่งที่จะช่วยได้คือ การอ่านหนังสือที่เขียนโดยผู้มีประสบการณ์ในลักษณะเดียวกัน เพื่อเรียนรู้วิธีต่างๆที่สามารถนำมาใช้จัดการกับชีวิต

อ่านหนังสือ

5. ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง ในเรื่องของการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การทำกิจกรรมต่างๆ การออกกำลังกาย และถ้าหากปัญหามีความรุนแรงและต่อเนื่องอาจปรึกษาแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือ

6. คาดหวังถึงการเศร้าเสียใจที่อาจเกิดขึ้น บางรายอาจรู้สึกดีขึ้น แต่อาจมีการตอบสนองต่อการสูญเสียในรูปแบบอื่น เช่น ฝันถึง มองเห็น หรือ คิดเกี่ยวกับผู้ตาย

7. ให้เวลาตนเอง โดยอาจให้เวลาตนเองสักระยะในการปรับตัวต่อการสูญเสียซึ่งอาจพักการทำงานประจำไว้ก่อน

ให้เวลากับตัวเอง

8. ทำพิธีกรรมทางศาสนา ให้กับผู้ตาย จะช่วยให้จิตใจสบายขึ้น รวมทั้งการระลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับผู้ตาย หรือ พูดคุยกับรูปภาพของผู้ตายในบางช่วงของวัน อาจช่วยให้บุคคลรู้สึกสุขสบายขึ้น

9. ถ้ารู้สึกว่าไม่ดีขึ้นภายในสองสามสัปดาห์ ให้ปรึกษาแพทย์ หรือถ้ามีปัญหาทางอารมณ์ในอดีต เช่น ซึมเศร้า หรือ ใช้สารเสพติด ควรมีแหล่งช่วยเหลือทางจิตใจ เพราะว่ามีโอกาสที่จะเกิดอาการเหล่านี้ซ้ำได้อีก

ขอบคุณข้อมูล จาก www.ns.mahidol.ac.th/english/th/ns_academic/56/01/sad_th.html

Advertisements

Advertisements

Advertisements