ชวนเช็กลิสต์อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง พร้อมแนะนำ 9 วิธีรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

ร่างกายอ่อนเพลีย มีความรู้สึกว่าอยากนอนอยู่ตลอดเวลา หรือทั้งๆ ที่นอนมาหลายชั่วโมง แต่ก็ยังรู้สึกราวกับแทบไม่ได้นอนอยู่ดีรึเปล่า อาการแบบนี้คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด ใช่หนึ่งในอาการอ่อนเพลียเรื้อรังหรือไม่? อย่ามัวรอช้า ตาม UndubZapp มาเช็กลิสต์อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง พร้อมคำแนะนำ 9 วิธีรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังอย่างมีประสิทธิผล ลดเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ตามมา ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์รอบตัวเรายังเต็มไปด้วยความไม่น่าไว้ใจเช่นนี้ เราก็ยิ่งต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพกันเป็นพิเศษนะคะ

 

อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง คือ?

อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome; CFS) คือ ภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรัง ตั้งแต่ชนิดที่มีอาการน้อยไปจนถึงชนิดที่มีอาการมาก ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังจากการพักผ่อนนอนหลับ ส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เมื่อระบบอวัยวะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงมีอาการอ่อนเพลียตามมา หลายๆ คนจึงใช้ชีวิตประจำวันที่เคยทำได้ไม่สะดวกดังเดิม

 

 

อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เกิดจาก?

สาเหตุของอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนั้น ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่นอน สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจาก

  1. การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสบางกลุ่ม
  2. การขาดสมดุลฮอร์โมนภายในร่างกาย
  3. เกิดความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
  4. อายุที่เพิ่มขึ้น หรือ กรรมพันธุ์
  5. ปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด

 

เช็กลิสต์อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

ด้วยความที่อาการอ่อนเพลียเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนล้วนเผชิญในโมงยามของการทำงาน หลายๆ คนจึงไม่ทันได้สังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติอะไรหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าคุณมีอาการเหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก แม้จะนอนหลับอย่างเต็มที่ ทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบครัน หรือออกกำลังกายเป็นประจำแล้วก็ตาม เป็นไปได้ว่าคุณมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังอยู่

 

อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง มีดังนี้

 

  • รู้สึกเพลียหลังตื่นนอน หรือรู้สึกว่ายังหลับไม่เต็มอิ่ม ทั้งๆ ที่เพิ่งนอนมา 6-8 ชั่วโมง
  • หลังออกกำลังกายจะอ่อนเพลียเป็นอย่างมาก ฟื้นตัวช้า อาจเหนื่อยเป็นวันๆ หรือสัปดาห์
  • ปวดศีรษะ เวียนหัว หน้ามืด โดยเฉพาะเวลาที่ต้องลุกขึ้นยืนหรือเปลี่ยนท่าทาง
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อโดยไม่มีอาการบวมแดง รู้สึกไม่ค่อยมีแรง
  • ขาดสมาธิ สมองตื้อ ความจำแย่ลง ตัดสินใจหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ยาก
  • มีอาการหนาวสั่น เหงื่อออกง่าย ขณะกำลังนอนหลับ
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่อิ่ม
  • ประสิทธิภาพในการขับถ่ายลดลง ท้องผูก
  • เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือที่รักแร้บวม
  • ไวต่อกลิ่น เสียง สารเคมี หรืออาหารมากยิ่งขึ้น

 

ถ้าลองเช็กลิสต์แล้วมีหลายข้อ อาจเป็นอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ทั้งนี้ทั้งนั้น การเช็กลิสต์นี้เป็นเพียงการประเมินขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคนี้อย่างแท้จริง จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจอาการและรับการรักษาที่จำเพาะเจาะจง

 

เปิดคำแนะนำ 9 วิธีรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

Advertisements

  1. ตรวจร่างกายให้ละเอียด

ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังเป็นกลุ่มอาการที่ไม่สามารถบ่งชี้อย่างเจาะจงได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ควรแก้ที่อะไร ทำได้แค่รักษาตามอาการเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ ควรปรึกษาแพทย์ ตรวจร่างกายให้ละเอียด เพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่เป็นอันตราย

 

  1. บรรเทาอาการปวดตามร่างกาย

คนที่มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังมักมีอาการปวดตามร่างกายร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ จึงควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าอาการปวดมีที่มาจากสิ่งใด ควรใช้วิธีใดบรรเทาและรักษาอาการปวดเหล่านั้น

 

  1. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

พยายามปรับเปลี่ยนตารางใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มีความสมดุลมากที่สุด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องหยุดทำงานอย่างสิ้นเชิง คุณสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ทำงานได้ พักผ่อนได้ แค่ไม่ทำให้ตัวเองเหนื่อยเกินไป

 

  1. รักษาการนอนให้ถูกสุขลักษณะ

เนื่องด้วยโรคนอนไม่หลับ นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง จึงควรรักษาการนอนให้ถูกสุขลักษณะให้เร็วที่สุด เพื่อหาสาเหตุอื่นของอาการอ่อนเพลียหลังจากตื่นนอน

 

  1. ใช้ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี

หมั่นดำเนินชีวิตโดยยึดหลักใช้ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดีเสมอ เพื่อให้ฮอร์โมนต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงอวัยวะต่างๆ ทำงานเป็นปกติ การใช้ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดีก็คือการดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน กินอาหารที่ดี ออกกำลังกายเป็นประจำ

 

  1. ดูแลจิตใจตนเอง

ภาวะทางจิตใจอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ อาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลจิตใจตนเอง รักษาภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ไม่ควรซื้อยาทานเอง เพราะอาจส่งผลข้างเคียงได้

 

  1. ฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่อง

เพราะอาการอ่อนเพลียเรื้อรังมักส่งผลให้ขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ความจำแย่ลง ไปจนถึงตัดสินใจหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ยาก การฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการรักษาอื่นๆ จะช่วยลดอาการเบลอได้ในระดับหนึ่ง

 

  1. เสริมด้วยวิตามินทางเลือก

หากว่าการขาดวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารบางประการ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง การใช้ยาหรือวิตามินทางเลือกเสริมในส่วนที่ร่างกายขาด ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจในการบรรเทา ฟื้นฟู รักษา และปรับสมดุลร่างกาย

 

  1. จัดลำดับการรักษาให้ดี

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ต้นเหตุของอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนั้น ทางการแพทย์ยังมิอาจชี้ชัดได้ ผู้ป่วยจึงควรพูดคุยกับแพทย์ว่าปัญหาใดที่ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตลำบากที่สุด จำเป็นต้องรักษาเร่งด่วนที่สุด เพื่อให้การรักษารุดหน้าได้ไว

 

 

©Featured image : Pexels

Advertisements

Advertisements

Advertisements