อาการตาเบลอนั้น ถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยจนหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งความจริงแล้วอาการตาเบลอหรือการมองเห็นภาพไม่ชัดนั้น ถือเป็นความผิดปกติทั่วไปและไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก โดยอาจเกิดขึ้นเพียงเพราะสายตาของเราอาจสั้นหรือยาวขึ้นมากกว่าเดิม แต่ในบางครั้งอาการตาเบลอก็อาจเป็นสัญญาณของโรคจากดวงตาที่มีระดับความรุนแรงได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า โรคเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินแก้ ส่วนโรคอันตรายของดวงตาที่อาจส่งผลให้เรามองภาพเบลอได้จะมีอะไรบ้างนั้น UndubZapp มีข้อมูลจาก Wake Forest Baptist Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกามาฝากกันค่ะ
1. สายตาสั้น หรือ ยาว
เรียกได้ว่าเป็นความผิดปกติของการมองเห็นที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปและมีอันตรายน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยปละละเลยไปได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นและฝืนใช้สายตาต่อไปโดยไม่ใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์นั้น อาจทำให้สายตาเคลื่อนและสั้นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมยังอาจเป็นอันตรายจากการเดินทางได้อีกด้วย
2. เยื่อตาอักเสบ
ภาวะเยื่อตาอักเสบนั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือที่มักเรียกกันอีกอย่างว่า โรคตาแดง ซึ่งถือเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง โดยโรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง ซึ่งส่งผลให้เยื่อตาที่มีลักษณะบวมแดง และอาจมีอาการมองภาพไม่ชัดเจนร่วมด้วย โดยปกติแล้วโรคตาแดงสามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในรายที่เป็นมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาหยอดตาต้านอาการอักเสบร่วมด้วยค่ะ
3. โรคที่เกิดจากคอนแทคเลนส์
ด้วยความที่คอนแทคเลนส์นั้น คืออุปกรณ์ปรับสภาพการมองเห็นให้ชัดเจนได้โดยที่ไม่ต้องมีอะไรมาบดบังใบหน้าเหมือนการใส่แว่นตา ทำให้ปัจจุบันคอนแทคเลนส์ได้รับความนิยมจากคนสายตาสั้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การใส่คอนแทคเลนส์อย่างไม่ถูกวิธีก็สามารถทำให้เกิดผลเสียได้เช่นกันค่ะ โดยเฉพาะหลายคนที่มักหลงลืมนอนหลับไปพร้อมคอนแทคเลนส์นั้น รู้หรือไม่ว่า นอกจากจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคแล้ว ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองกับกระจกตาอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้มองเห็นภาพที่เบลอกว่าปกติ รวมทั้งนำไปสู่การติดเชื้อในดวงตาอีกด้วยค่ะ
4. การติดเชื้อแบคทีเรีย
นอกจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตาแดงแล้ว อาการมองเห็นภาพเบลอที่มาพร้อมการเจ็บตานั้นยังอาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย ซึ่งการติดเชื้อโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการสัมผัสหรือการบาดเจ็บตาดวงตาอื่นๆ ได้ด้วย โดยการรักษานั้นก็สามารถทำให้ด้วยการใช้ยาเช่นเดียวกับเชื้อไวรัส แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบาง เนื่องจากหากเกิดอันตรายที่รุนแรงมากๆ นั้นอาจถึงขั้นตาบอดได้ทีเดียวค่ะ
Advertisements
5. ต้อกระจก
โรคต้อกระจกนั้นถือเป็นหนึ่งในโรคทางดวงตาที่เกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้เลนส์ตามีประสิทธิภาพในการรับภาพและแสงได้ลดลง โดยโรคต้อกระจกนี้มักจะมีการดำเนินของโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทำให้ผู้สูงอายุมองเห็นภาพที่เบลอขึ้นเรื่อยๆ โดยการรักษาที่ได้ผลที่สุดก็คือการผ่าตัดเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพและใช้เลนส์ตาเทียมทดแทนค่ะ
6. ต้อหิน
ถือเป็นโรคดวงตาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเช่นเดียวกับต้อกระจก โดยโรคต้อหินนี้ เกิดจากความดันภายในดวงตาที่ทำให้ประสาทดวงตาเสื่อมสภาพและมีประสิทธิภาพในการมองเห็นที่ลดลง แต่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวเนื่องจากต้อหินมีการดำเนินของโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไปนับสิบปี ซึ่งการรักษาโรคนี้นั้น มีตั้งแต่วิธีการเลเซอร์ การักษาด้วยยา และการผ่าตัดค่ะ
7. จอประสาทตาเสื่อม
ถือเป็นภาวะที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ซึ่งพบได้บ่อยทีเดียวในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยมีสาเหตุจากจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตาเสื่อมสภาพ ซึ่งโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านอายุ และการใช้สายตาที่ผิดวิธีอย่างการจ้องมองแสงแดดโดยตรง หรืออ่านหนังสือในที่มืด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเห็นภาพที่บิดเบี้ยวและไม่ชัดเจน บางครั้งอาจมองเห็นเหมือนมีหยากไย่มาบดบังภาพบางส่วน โดยโรคนี้มีทั้งแบบที่เกิดขึ้นฉับพลันและแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการรักษาก็สามารถทำได้ทั้งการเลเซอร์และการผ่าตัดค่ะ
8. โรคเบาหวาน
หลายคนอาจเคยได้ยินโรคเบาหวานขึ้นตา หรือการที่โรคเบาหวานสามารถสร้างความเสียหายกับดวงตาได้จนนำไปสู่การมองเห็นที่ลดลง และอาจรุนแรงถึงทำให้ตาบอดได้ ซึ่งการรักษาโรคตาจากเบาหวานนั้นก็ต้องเริ่มต้นด้วยได้ด้วยการรักษาโรคเบาหวานหรืออย่างน้อยก็ควรควบคุมดูแลรักษาไม่ให้อาการของโรคตาจากเบาหวานแย่ลงด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานค่ะ
แซ่บกันต่อ…
>> 10 อันดับโรคยอดฮิต “มนุษย์ออฟฟิศ” จำไว้!! ป่วยไป บริษัทหาคนใหม่แทนคุณได้อยู่ดี
>> ตาแห้ง ปวดตาป้องกันได้ ! 7 วิธีถนอมดวงตาถ้าต้องจ้องหน้าจอคอม/จอมือถือนานๆ
Advertisements