เคลียร์ชัด น้ำยาฆ่าเชื้อสูตรไหนดี!! 5 น้ำยาฆ่าเชื้อโรค กำจัดสิ่งสกปรกจากเครื่องเรือน

นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนชาวไทยไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้แถลงการทดลอง คลายล็อกดาวน์ ระยะ 2 เปิดห้างบางแห่ง เพื่อประเมินผล ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ภาพรวมของโรคระบาดภายในประเทศไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่ยังรู้สึกกังวัลใจในการเดินทางออกนอกบ้าน UndubZapp ขอแนะนำ 5 สูตรน้ำยาฆ่าเชื้อโรค กำจัดเชื้อไวรัสบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมบ่อยครั้ง ป้องกันไม่ให้ไวรัสเกาะตัวบนพื้นผิววัสดุภายในบ้าน

 

ข้อควรทราบเบื้องต้นคือ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อต่างๆ มีความรุนแรงในการฆ่าเชื้อโรคสูง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์ได้ ผู้ใช้งานจึงควรสวมใส่ถุงมือและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และไม่ผสมหลายๆ ผลิตภัณฑ์พร้อมกัน

 

เรื่องผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ก็สำคัญ จำเป็นต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองและมีเลขทะเบียน อย. ซึ่งมีข้อความระบุบนฉลากว่าสามารถ “ฆ่าเชื้อโรค” “ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หรือ “ฆ่าเชื้อไวรัสได้” นอกจากการทำความสะอาดเครื่องเรือนแล้ว อย่าลืมปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

 

1.เอธิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol)

เอธิลแอลกอฮอล์ที่สามารถนำมาใช้ฆ่าเชื้อไวรัสบนพื้นผิววัสดุได้ ต้องมีเอธิลแอลกอฮอล์ หรือเอธานอล (Ethyl alcohol หรือ Ethanol) ซึ่งมีความเข้มข้นสูงถึง 70%

 

หากต่ำกว่า 70% จะไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ เอธิลแอลกอฮอล์สามารถฆ่าเชื้อไวรัสบนพื้นผิวได้ภายใน 1 นาทีหลังการทำความสะอาด ปลอดภัยต่อผิวหนังมนุษย์ จึงสามารถนำไปเช็ดทำความสะอาดได้โดยไม่ต้องเจือจางก่อน

2.โซเดียม ไฮโปคลอไรด์ (Sodium hypochlorite)

โซเดียม ไฮโปคลอไรด์ หรือ ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว หรือ คลอรีนน้ำ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโดยการทำให้โปรตีนเสียสภาพ ตัวสารมีความสามารถฆ่าเชื้อได้สูง รวดเร็ว นำไปใช้ดับกลิ่นได้ ข้อเสียก็คือมีกลิ่นฉุนและมีฤทธิ์กัดกร่อน

 

หากสารสัมผัสผิวหนัง อาจทำให้ปวดแสบร้อน จึงควรสวมใส่ถุงมือทุกครั้งการก่อนใช้งาน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดที่มีโซเดียม ไฮโปคลอไรด์ ได้แก่ ไฮเตอร์ (Haiter) เข้มข้น 6.0% คลอร็อกซ์ (Clorox) เข้มข้น 6.0%

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความเข้มข้นสูง จำเป็นต้องเจือจางด้วยน้ำสะอาดก่อนใช้งาน น้ำยาที่เข้มข้นอย่างน้อย 0.1% จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสบนพื้นผิวได้ภายใน 1 นาทีหลังการทำความสะอาด

อัตราส่วนการผสมน้ำยาที่มีความเข้มข้น 6.0%

ผสมน้ำยา 1 ส่วนกับน้ำ 59 ส่วน จะได้เป็น สูตรเจือจาง (เข้มข้น 0.1%)

ผสมน้ำยา 1 ส่วนกับน้ำ 11 ส่วน จะได้เป็น สูตรมาตรฐาน (เข้มข้น 0.5%)

 

Advertisements

 

3.ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide)

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เป็นสารละลายไม่มีสี ออกฤทธิ์โดยปล่อยสารอนุมูลอิสระมาทำลายเชื้อ ระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น สลายตัวง่าย ไม่มีสารพิษตกค้าง ควรทิ้งไว้ 1 นาทีก่อนล้างออก

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ได้แก่ ไฮยีน (Hygiene) สูตรซักผ้าสี มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น 7.5%

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความเข้มข้นสูง จำเป็นต้องเจือจางด้วยน้ำสะอาดก่อนใช้งาน สูตรการเจือจางไฮยีนสูตรซักผ้าสี คือ ไฮยีน 1 ฝา (15 มล.) เจือจางกับน้ำ 200 มล.

 

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นอย่างน้อย 0.5% สามารถฆ่าเชื้อไวรัสบนพื้นผิวได้ภายใน 1 นาทีหลังการทำความสะอาด ใช้แล้วต้องเก็บให้พ้นแสงแดด

4.คลอโรไซลินอล (Chloroxylenol)

คลอโรไซลินอล เป็นสารที่ออกฤทธิ์ด้วยการทำลายผนังของเชื้อโรค จนเกิดรูรั่วและตกตะกอนโปรตีน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดที่มีคลอโรไซลินอล ได้แก่ เดทตอล (Dettol) สูตร Antiseptic disinfectant เข้มข้น 4.8% (ข้อสังเกตคือมีสัญลักษณ์รูปมงกุฎสีฟ้าบนฉลาก)

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความเข้มข้นสูง จำเป็นต้องเจือจางตามคำแนะนำบนฉลากก่อนใช้งาน เจือจางแล้วควรใช้งานทันที คลอโรไซลินอลความเข้มข้นอย่างน้อย 0.12% จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสบนพื้นผิวได้ภายใน 1 นาทีหลังการทำความสะอาด

5.ผงซักฟอก (Detergent)

กรมควบคุมโรค แนะนำให้ประชาชนทำความสะอาดอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับพื้นผิว ลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส การทำความสะอาดวัสดุที่เป็นผ้า สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการนำผงซักฟอกผสมน้ำร้อน 70 องศาเซลเซียสก่อน แล้วค่อยนำไปซักตามปกติ

ขอขอบคุณ อ.นพ.ธนกฤต พงพิทักษ์เมธา และ อ.นพ.นพดล วัชระชัยสุรพล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอย่างยิ่ง ที่กรุณาเผยแผ่ความรู้ดีๆ ด้านการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามพื้นผิวต่างๆ เพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19 มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

©แหล่งข้อมูล : 1,2

 

©Feature Image: unsplash.com

 

ไม่พลาดบทความดีๆ แซ่บได้ทุกวัน  กดติดตาม ADD Line @UndubZapp

 

Advertisements

Advertisements

Advertisements