ยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องการบริจาคอวัยวะและบริจาคร่างกายกันมากขึ้น UndubZapp ขออาสาพามาหาคำตอบ บริจาคร่างกายกับบริจาคอวัยวะเหมือนกันมั๊ย? อยากเริ่มบริจาคอวัยวะต้องทำอะไรบ้าง? ไปดูกันค่ะ
ถาม: ทำไมถึงต้องบริจาคอวัยวะ?
ตอบ: การบริจาคอวัยวะเป็นการทำบุญใหญ่รูปแบบหนึ่ง เปรียบเสมือนการต่อลมหายใจให้เพื่อนมนุษย์ที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งผู้บริจาคอวัยวะ 1 รายจะสามารถบริจาคหัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน และดวงตาให้ผู้รับได้อีกหลายราย
ทั้งนี้ ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในปัจจุบันมีพี่น้องชาวไทยกว่า 5,000 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้รอรับบริจาคอวัยวะ และทุกๆ ปีก็มักจะมีผู้ป่วยรอรับบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยราว 1,000 คน/ปี
ถาม: การบริจาคอวัยวะและบริจาคร่างกายคืออย่างเดียวกันไหม?
ตอบ: การบริจาคอวัยวะและอุทิศร่างกายไม่เหมือนกัน การบริจาคอวัยวะเป็นการให้อวัยวะเพื่อจุดประสงค์สำหรับรักษาผู้ป่วย ส่วนการบริจาคร่างกายเป็นการอุทิศร่างกายสำหรับการเรียนการสอนทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริจาคสามารถแสดงความจำนงที่จะเลือกบริจาคอวัยวะ บริจาคร่างกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ประเภท เมื่อถึงเวลา แพทย์จะดำเนินการตามความเหมาะสมโดยยึดหลักวิชาการ
ถาม: ใครสามารถบริจาคอวัยวะได้บ้าง?
ตอบ:
- กรณีที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุไม่เกิน 70 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี ปราศจากโรคติดเชื้อและโรคเรื้อรังทุกประเภท
- กรณีที่เสียชีวิตแล้ว ผู้ที่สมองตายเท่านั้นที่จะสามารถนำอวัยวะไปช่วยเหลือผู้อื่นได้
ถาม: สมองตายหมายถึงอะไร?
ตอบ: สมองตาย คือ ภาวะที่แกนสมองถูกทำลายจนสูญเสียการทำงานอย่างสิ้นเชิงและถาวร ไม่สามารถรักษาให้ฟื้นคืนชีพได้อีก ทางการแพทย์จึงถือว่าเสียชีวิตแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองตายอาจเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก เลือดออกในช่องสมอง บาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง การจะยืนยันว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองตายได้นั้น ต้องตรวจโดยแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน และตรวจห่างกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
ถาม: อวัยวะใดที่สามารถบริจาคได้บ้าง?
ตอบ: อวัยวะที่สามารถบริจาคและนำไปปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ไต 2 ข้าง, ปอด 2 ข้าง, หัวใจ, ตับ, ตับอ่อน ส่วนเนื้อเยื่อที่สามารถปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น, กระจกตา อาจกล่าวได้ว่าอวัยวะของผู้บริจาค 1 คน สามารถนำไปปลูกถ่ายให้คนไข้ผู้รอรับบริจาคอวัยวะได้สูงสุด 8 คน
Advertisements
ถาม: ทำไมบริจาคอวัยวะต้องบอกญาติ?
ตอบ: การแสดงความจำนงบริจาคสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ภายหลังจากแสดงความจำนงไว้ ควรแจ้งญาติให้ทราบเจตนา เพราะหลังจากผู้แสดงความจำนงบริจาคเสียชีวิต ญาติจะต้องเซ็นยินยอมบริจาคอวัยวะเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง หรือต้องเป็นผู้แจ้งให้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะทราบว่าผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเสียชีวิตแล้ว หากญาติไม่เซ็นยินยอมจะถือว่าการบริจาคนั้นเป็นอันยกเลิก
ถาม: เมื่อผู้บริจาคอวัยวะแล้ว ร่างผู้เสียชีวิตจะเป็นอย่างไร?
ตอบ: กรณีที่ญาติรับทราบว่าผู้เสียชีวิตแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ ญาติควรโทรแจ้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะทันที โดยแจ้งได้ที่ โทร. 1666 หลังจากนั้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยสภาพการทำงานของอวัยวะว่าเหมาะสมสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไม่ แล้วจึงจะผ่าตัดนำอวัยวะออก (ใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง) ภายหลังการผ่าตัด แพทย์จะตกแต่งร่างของผู้เสียชีวิตให้คงเดิมในสภาพเรียบร้อย และมอบร่างให้ญาตินำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
ถาม: อวัยวะที่บริจาคไปจะถูกนำไปให้ใคร?
ตอบ: ศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะทำการจัดสรรอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่ได้ทำการลงทะเบียนกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะไว้ โดยจัดสรรให้ผู้ที่มีอาการป่วยหนักก่อน แต่ก็ต้องพิจารณาอายุของผู้ป่วย หมู่เลือด ความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ ระดับภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อ รวมถึงระยะเวลาที่รออวัยวะร่วมด้วย
ถาม: สามารถบริจาคอวัยวะให้เฉพาะคนในครอบครัวได้หรือไม่?
ตอบ:
- กรณีที่ผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ สามารถบริจาคอวัยวะ เช่น ตับ ไต ไขกระดูก ให้กับญาติโดยสายเลือด หรือคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายกันไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือบุตรที่เกิดจากสามี-ภรรยาคู่นั้นเท่านั้น ตามระเบียบสภากาชาดไทยว่าด้วยศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
- กรณีผู้บริจาคเสียชีวิตสมองตาย จะไม่สามารถระบุให้ญาติหรือครอบครัวได้ เพราะศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะจัดสรรอวัยวะให้กับผู้รอด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่มีการซื้อขายอวัยวะ
ถาม: ติดต่อขอบริจาคอวัยวะได้ที่ไหน?
ตอบ: สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ผ่านช่องทางดังนี้
- โทร 1666
- organdonate.in.th
- ยื่นใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไปตามที่อยู่ที่ระบุ ดาวน์โหลดได้ที่นี่
https://www.organdonate.in.th/assets/files/organ_donation_form.pdf
ที่มา ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย https://www.organdonate.in.th/
Advertisements