เราเชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนเล็กน้อย เกี่ยวกับการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ว่าประกันทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไร จะเลือกทำแบบไหนดีถึงจะเหมาะกับตัวเองมากที่สุด ดังนั้นไม่รอช้าดีกว่า เราขอพูดถึงประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เปรียบเทียบ ให้เห็นชัดๆ กันไปเลยว่าประกันทั้ง 2 ประเภทนี้คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะได้เลือกประเภทที่เหมาะกับตัวเองที่สุด
ประกันสุขภาพ คือ ประกันที่มอบความคุ้มครองในยามที่คุณเจ็บป่วย ซึ่งประกันสุขภาพจะทำหน้าที่ลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงรักษาตัวที่โรงพยาบาล อีกทั้งมีการชดเชยรายได้ขณะพักรักษาตัวด้วย ซึ่งเงื่อนไขความคุ้มครองนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทกำหนด โดยประกันสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุแบบรายบุคคล และประกันสุขภาพและอุบัติเหตุแบบรวมกลุ่ม ซึ่งแบ่งระดับความคุ้มครองออกเป็น 5 รูปแบบ ดังนี้
1. ผู้ป่วยใน (IPD) : คุ้มครองกรณีนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งนี้หากเลือกการคุ้มครองที่ครอบคลุมค่าห้องสูง ค่าเบี้ยประกันก็จะสูงตาม
2. ผู้ป่วยนอก (OPD) : คุ้มครองกรณีทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้นอนพักรักษาตัว เช่น อุบัติเหตุเล็ก เป็นไข้ ปวดหัว
3. โรคร้ายแรง (ECIR) : คุ้มครองกรณีเจ็บป่วยในร้ายแรงที่ต้องรักษาตัวนาน ค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับสมอง เป็นต้น
4. ประกันอุบัติเหตุ (PA) : คุ้มครองการรักษาอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
5. ประกันชดเชยรายได้ : คุ้มครองกรณีที่ผู้ทำประกันภัยต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งบริษัทประกันจะเป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อเป็นการชดเชยรายได้เป็นรายวันให้กับผู้ทำประกันในช่วงนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งประกันชดเชยรายได้จะไม่ได้ครอบคลุมเรื่องค่ารักษาพยาบาล
เมื่อนำประกันสุขภาพมาเปรียบเทียบกับประกันชีวิต จะเห็นข้อแตกต่างชัดเจนดังนี้
ประกันชีวิต คือ ประกันที่มอบความคุ้มครองในกรณีที่คุณเสียชีวิต โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ หรือหากผู้ทำประกันยังมีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด บริษัทประกันชีวิตก็จะเงินให้กับผู้ทำประกันโดยตรง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
Advertisements
1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา : เน้นการคุ้มครองชีวิตระยะสั้น สามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายเบี้ยประกันเพื่อรับความคุ้มครองกี่ปี เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี เมื่อจ่ายเบี้ยประกันไปแล้วเราจะได้รับความคุ้มครองตามจำนวนปีที่เลือกไว้ และเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดสัญญาแล้วแต่เจ้าของกรมธรรม์ยังมีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเจ้าของกรมธรรม์เสียชีวิตในช่วงระยะเวลาการคุ้มครองตามสัญญา ผลตอบแทนก็จะไปตกอยู่กับผู้รับผลประโยชน์แทน
2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ : เน้นการคุ้มครองชีวิตระยะยาว โดยจ่ายเบี้ยประกันแค่ช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่เราเลือก เช่น จ่ายเบี้ยประกันชีวิต 10 ปี แต่คุ้มครองจนถึงอายุ 90 ปี เมื่อผู้ถือกรมธรรม์มีอายุครบ 90 ปีก็จะได้รับทุนประกันคืน cแต่ถ้าเสียชีวิตระหว่างนี้ทุนประกันคืนจะเป็นของผู้รับผลประโยชน์แทน
3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ : เน้นการออมทรัพย์และได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย โดยผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าเบี้ยที่จ่ายไป มีตัวเลขผลตอบแทนอย่างชัดเจน มีการกำหนดปีที่จะได้รับเงินสดคืน เช่น ประกันชีวิต 15 ปี ได้รับความคุ้มครอง 20 ปี ในแต่ละปีก็จะได้รับผลตอบแทนต่อเนื่องทุกปี ปีละ 2% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย แต่หากเสียชีวิตระหว่าง 20 ปีนี้ ผลตอบแทนก็จะตกไปอยู่กับผู้รับผลประโยชน์แทน เป็นต้น จุดเด่นในเรื่องของการช่วยออมทรัพย์นี้เป็นสิ่งที่คนวัยทำงานมักให้ความสนใจ เพราะเมื่อนำประกันสุขภาพมาเปรียบเทียบกันแล้ว ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีกว่า
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ : เน้นการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ เช่น กำหนดจ่ายเบี้ยประกันจนถึงอายุ 60 ปี ได้รับความคุ้มครองไปจนถึงอายุ 99 ปี ดังนั้นหากเราจ่ายเบี้ยประกันไปจนครบอายุ 60 ปีแล้ว ระหว่างนี้ไปจนถึงอายุ 99 ปี เราก็จะได้รับเงินบำนาญจากบริษัทประกันตามสัญญาที่ทำไว้ แต่ถ้าเสียชีวิตก่อนก็จะได้รับเงินชดเชยที่สูงกว่าเบี้ยที่จ่ายมาแล้วทั้งหมดมากน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันชีวิต
จับประกันชีวิตกับประกันสุขภาพมาเปรียบเทียบกันแค่ข้อมูลเท่านี้คงไม่พอ เราขอลงข้อมูลลึกอีกสักนิด เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังจะตัดสินใจทำประกัน
รายละเอียด |
ประกันสุขภาพ |
ประกันชีวิต |
วัตถุประสงค์ของการทำประกัน |
เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล |
เป็นการวางแผนอนาคตเพื่อครอบครัว กรณีที่เสียชีวิต คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจะได้รับผลประโยชน์ มีเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในอนาคต |
ผู้รับผลประโยชน์ | ผู้ทำประกันเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เอง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายได้ขณะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นต้น | กรณีที่ไม่เสียชีวิตระหว่างระยะเวลาคุ้มครอง ผู้ทำประกันก็จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ แต่หากเสียชีวิตในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ผลประโยชน์จะตกไปเป็นของผู้รับผลประโยชน์แทน เช่น พ่อ แม่ บุตร สามี ภรรยา ตามที่ผู้ทำประกันระบุไว้ในกรมธรรม์ |
ราคาเบี้ยประกัน | ราคาเบี้ยประกันมีให้เลือกตั้งแต่ต่ำไปจนถึงสูง | ราคาเบี้ยประกันสูง |
ผลตอบแทนคืนจากเบี้ยประกัน | ไม่มีผลตอบแทนสะสมกรมธรรม์จากเบี้ยประกันที่จ่ายไป เพราะเบี้ยประกันสุขภาพจะตอบแทนในรูปแบบค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายได้ขณะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น | ได้รับผลตอบแทนสะสมกรมธรรม์จากเบี้ยประกันที่จ่ายไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันชีวิต |
การลดหย่อนภาษี | นำไปลดหย่อนภาษีได้ จำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบประกันที่เลือก | นำไปลดหย่อนภาษีได้ จำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบประกันที่เลือก |
และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลระหว่างประกันชีวิตกับประกันสุขภาพ เปรียบเทียบกันให้เห็นกันแบบชัดๆ หวังว่าทุกคนคงจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น สรุปง่ายๆ ก็คือ ใครอยากได้รับความคุ้มครองทางการเงินกรณีเจ็บป่วย เข้าโรงพยาบาล ก็ให้เลือกทำประกันสุขภาพ ใครอยากได้รับความคุ้มครองชีวิตกรณีที่เสียชีวิตและต้องการมีเงินทุนทิ้งไว้ให้คนในครอบครัวก็เลือกทำประกันชีวิตได้เลย
Advertisements