การประนีประนอม (Compromise) เป็นคำกริยาที่มีความหมายว่า ยอมผ่อนปรน, ยอมอะลุ้มอล่วยกัน, ยอมผ่อนผันให้แก่กันและกัน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี เพื่อลดโอกาสในการทะเลาะเบาะแว้ง ป้องกันการบาดหมาง และเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ของคนทุกหมู่เหล่าในสังคม แล้วเราจะฝึกมี compromise ในที่ทำงานได้อย่างไร ไปเรียนรู้พร้อมๆ กันเลยค่ะ
ทำไมต้องเดินทางสายกลาง?
เนื่องด้วยคนแต่ละคนบนโลกนี้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มาจากต่างที่ต่างถิ่นต่างพื้นเพ ทั้งยังมีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตแตกต่างกันออกไป ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการกระทำของแต่ละคนจึงอาจจะสวนทางกันบ้าง และความแตกต่างนี้เองที่เป็นเหตุให้บุคคลเกิดความไม่เข้าใจกันได้ง่าย อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในอนาคตต่อไป
เมื่อเราทุกคนต่างมีทางเลือกเป็นของตัวเอง การนำแนวคิดทางสายกลาง หลักทฤษฏีที่ว่าด้วยความสมดุล มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน จึงช่วยให้เรารู้จักวางตัวอย่างพอดี ไม่ใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งจนเกินไป ไม่ยึดความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือไม่หมกหมุ่นกับบางสิ่งบางอย่างจนเกินพอดี เช่น อดหลับอดนอนทำงานจนร่างกายได้รับความลำบาก หรือดื้อดึงกับจุดยืนของตัวเอง เป็นต้น
ตามหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกทางสายกลางว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งหมายถึง ข้อปฏิบัติกลางๆ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป และยังมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “มรรค 8” หลักแห่งการเรียกสติ ปรับชีวิตให้พอดี
ผู้ใดก็ตามที่มุ่งปฏิบัติตามแนวคิดทางสายกลางจะประสบแต่ความสุขความสำเร็จ เกิดความสมดุลทางสภาวะอารมณ์ ถ้าพูดถึงทางธรรม ก็มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าพูดถึงทางโลก ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตอย่างสันติสุข สามารถจัดสรรเวลางานและเวลาพักผ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายและจิตใจเต็มไปด้วยความสมบูรณ์
ข้อปฏิบัติตามแนวคิดทางสายกลาง
1.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
ก่อนที่เราจะใช้ชีวิตตามแนวคิดทางสายกลางได้นั้น เราจำเป็นต้องปรับ mindset ของเราให้เที่ยงธรรม ทำให้ตนเองมีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง และมีความเห็นที่ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้น เราก็จะเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอๆ ว่าสิ่งที่เราทำเหมาะสมแล้ว
2.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
เมื่อรู้จักคิดในทางที่ถูกคิดตามหลักศีลธรรมอันดีงาม โดยปราศจากโมหะ โทสะ โลภะ ความพยาบาท รวมถึงความคิดตั้งใจจะเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ความคิดของเราก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง เปรียบได้ดั่งการตั้งใจให้เป็นกลาง ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง
Advertisements
3.สัมมาวาจา (วาจาชอบ)
มีหลายกรณีเลยทีเดียวที่แสดงให้เห็นว่า คำพูดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนรักกันหรือขัดแย้งกันได้ เมื่อเราเลือกที่จะไม่ฝักใฝ่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็ต้องพูดในทางที่ถูกที่ควร พูดความจริงอยู่เป็นนิจ งดพูดจาส่อเสียด พูดสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด
4.สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
การปฏิบัติตนที่ถูกต้องนั้น หลักๆ แล้วควรจะคำนึงถึงการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา ใจ แม้แต่การหยิบยืมข้าวของเครื่องใช้ของผู้อื่นแล้วไม่คืนก็ถือเป็นการเบียดเบียน เพราะสิ่งนั้นเขาอาจยินยอมให้ยืม แต่ไม่ได้ยกให้
5.สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
รู้จักประกอบสัมมาอาชีพในทางสุจริต ไม่คดโกง ไม่หาเลี้ยงตนทางมิจฉาชีพ ใช้ปัญญา ความรู้ และความสามารถของตนบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ระลึกไว้ว่าการลักไก่เล็กๆ น้อยๆ เช่น โดดงาน ฝากคนอื่นตอกบัตรแทนก็ถือเป็นการเลี้ยงชีพมิชอบ
6.สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
ความพยายามนั้นเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมการทำงาน ยิ่งเรามีความพยายามมาก ก็ยิ่งส่งผลดีต่อหน้าที่การงานและความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง แต่ความเพียรก็ต้องเป็นความเพียรที่ถูกต้อง ขยันให้ถูกที่ถูกทาง มิใช่ในทางอกุศลกรรม
7.สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
แม้ว่าเราจะพยายามประพฤติตนเป็นคนดีของที่ทำงานและคนดีของสังคมแล้ว แต่บางทีก็อาจมีโมเมนต์ที่เราหลุดกรอบไปบ้าง การตั้งสติได้จะช่วยให้เราระลึกได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ จึงไม่หลงเข้าไปในวังวนของกิเลส และสำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ
8.สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ)
การเดินทางสายกลางไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายในขณะเดียวกัน เพราะคนเรามักยึดติดกับแพทเทิร์นชีวิตแบบเดิมๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับความมุ่งมั่นให้ถูกทาง แน่วแน่ในทางที่ถูกต้อง เพื่อที่ตัวเราเองจะได้สามารถเดินทางสายกลางได้เป็นนิจ
นอกจากการนำข้อควรปฏิบัติของแนวคิดทางสายกลางไปประยุกต์ใช้ในที่ทำงานแล้ว เรายังสามารถประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไปได้ด้วย เพราะแนวคิดทางสายกลางเป็นทางปฏิบัติที่มุ่งเน้นใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา
และการใช้ชีวิตตามแนวคิดทางสายกลางก็ช่วยให้เรามีสมาธิ สติ และความสมดุลไปพร้อมๆ กัน จึงมี compromise กับคนข้างเคียงอยู่เสมอ ถ้าเราทุกคนสามารถพบกันคนละครึ่งทาง สังคมย่อมมีแต่ความสงบสุขอย่างแน่นอน
Advertisements