“รู้ไหมเธอว่าทุกข์นั้นเบาเมื่อแบ่งให้ใครสักคน ก็เหมือนที่เธอควรช่วยให้ฉันยิ้มได้ ก็เหมือนกัน เหนื่อยมากไหม ฉันรู้ว่าเธอนั้นเหนื่อยและยังไหว ไม่รู้จะช่วยอะไรเธอได้ก็เผื่อไว้ เผื่อเธอต้องการ ก็ขอให้จับมือฉันขอให้ผ่านอะไรไปด้วยกัน อย่าเสียใจคนเดียว”
การที่คนใกล้ชิดของเรามีปัญหา การที่เขาเลือกที่จะระบายมันออกมาเพื่อให้เรารับฟัง นั้นก็แปลว่าเขาเชื่อใจและมั่นใจในตัวเราในระดับหนึ่ง ว่ากันว่า การพูดคุยทำให้ได้เรียนรู้และรับรู้ในสิ่งใหม่ๆ อีกด้วย ดังนั้นในวันนี้ เราจึงมาพากันไปดูถึงเทคนิคของการเป็นผู้ฟังที่ดี หากคุณปฏิบัติตามก็อาจจะได้อะไรเพิ่มมากขึ้นได้อย่างง่ายๆ เอาเป็นว่าแค่ลองเปิดตา และเปิดหัวใจ “รับฟัง” ดูนะ
1. สังเกต “ภาษากาย”
การที่เราพูดคุยกับใครสักคน แต่ใครคนนั้นกลับมัวแต่เล่นโทรศัพท์ ก็คงจะไม่ดีสักเท่านั้น ดังนั้นการเป็นผู้ฟังที่ดี ก็ควรที่จะตั้งใจฟังคู่สนทนา และสังเกตภาษากาย หรืออัจวะภาษา ที่เขาสื่อออกมา อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่ และการแสดงสีหน้าถึงความรู้สึกในประโยคเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่เสียใจ และเห็นอกเห็นใจ ก็ทำให้เขารู้สึกว่ามีใครสักคนเข้าใจและอยู่เคียงข้างเขาแล้ว
2. อย่ารีบพูดแทรกเรื่องของตัวเอง
เชื่อว่าหลายๆ คน พอได้ฟังเรื่องราวจากอีกฝ่ายแล้ว หากมีเรื่องไหนที่ตรงกับตัวเอง หรือเรื่องไหนที่อยากจะเล่า หรือแสดงความคิดเห็น ก็อยากจะพูดขึ้นมาเสียให้ได้เลย แต่เอาเป็นว่า อย่างพึ่งเล่าออกมาจะเป็นการดีกว่า จงรอให้แน่ใจว่าเขาได้พูดเรื่องของเขาจบลงจริงๆ แล้ว จริงค่อยๆ พูดขึ้นมาก็ไม่สาย แต่ไม่ได้หมายความว่าในขณะที่เขาเล่า เราจะนั่งเงียบเฉยๆ เพียงเท่านั้น แต่การออกประโยคตอบรับสั้นๆ ก็ทำให้การสนทนานั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น
Advertisements
3. ไม่เข้าใจ ให้ถาม
แม้ว่าการเป็นผู้ฟังที่ดี จะต้องเงียบฟังอย่างตั้งใจ แต่หากมีเรื่องสงสัยในประโยคสนทนานั้นๆ แต่ก็เก็บงำไว้ก็คงจะไม่เป็นการดีสักเท่าไหร่ ดังนั้นการที่เราจะสอบถามในเรื่องที่เขาอาจจะสื่อสารออกมาได้ไม่ค่อยดี ก็จะทำให้ให้เรามีความเข้าใจในคู่สนทนามากยิ่งขึ้น ขอเตือนว่าหากไม่เข้าใจ ก็อย่างตีความหมายไปเอง เพราะในบางครั้งสิ่งที่เขาต้องการสื่อ และสิ่งที่เราเข้าใจก็อาจจะเป็นคนละเรื่องกัน
4. ใช้ใจฟังอย่างมีสมาธิ
การรับฟัง คือการฟังอย่างตั้งใจ เก็บทุกรายละเอียด ฟังทุกเรื่องราว และให้ความสนใจแก่ผู้สนทนาเป็นอันดับแรก ไม่วอกแวกต่อสิ่งใด ดังนั้นไม่ว่าเข้าจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม แม้ว่ามันจะน่าสนใจหรือไม่น่าสนใจก็ตามแต่ ก็ควรที่จะตั้งใจฟังอยู่เสมอๆ แต่หากว่าการสนทนานั้นเริ่มมีความอึดอัดมากขึ้นแล้วล่ะก็ อาจจะค่อยๆ หาจังหวะจบลงทีหลังก็ไม่สาย
5. มีศิลปะในการขอจังหวะจบ
การสนทนาในบางครั้ง อาจจะดูจะยืดยาวออกไปเรื่อยๆ จนหาจังหวะจบไม่ได้ ดังนั้นการที่เราจะพยายามออกไปจากบทสนทนา หรือเรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่าชิ่งหนี ก็ควรที่จะมีศิลปะสักหน่อย เพื่อเป็นไว้หน้าคู่สนทนา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องทำหลังจากที่คุณเปิดใจรับฟังไปอย่างเรียบร้อยแล้ว
Advertisements