จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ระบุว่า พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปี 2563 กระจายทั่วประเทศไทย พบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี พื้นที่ที่มีอัตราผู้ป่วยมากที่สุด คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือตามลำดับ ปัจจุบันมีรายงานพบผู้ป่วยกว่า 10,938 คน และคาดว่าจะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอีก
กรมควบคุมโรคแนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบริเวณบ้านอย่างสม่ำเสมอช่วงหน้าฝน ตามมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะและเศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และท้ายที่สุดคือเก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาตุ่มน้ำ แจกัน คว่ำภาชนะ ไม่ให้ยุงวางไข่ นอกเหนือจากวิธีการดังกล่าวแล้ว เพื่อนๆ ยังสามารถพิจารณาวิธีการป้องกันไข้เลือดออก โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้อีกทาง ซึ่งข้อควรรู้ของวัคซีนดังกล่าวจะมีอะไรบ้างนั้น เลื่อนลงไปอ่านด้านล่างได้เลยค่ะ!
ทำความรู้จักโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปีในประเทศเขตร้อน โรคไข้เลือดออกที่ระบาดในประเทศไทยเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี-1, เดงกี-2, เดงกี-3 และเดงกี-4 ซึ่งในแต่ละปีพบว่ามีการกระจายของเชื้อไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกันไป ทำให้มีการระบาดของโรคมาโดยตลอด
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีความรุนแรงแตกต่างกัน อาการซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค ได้แก่
- มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส นาน 2-7 วัน
- พบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง
- อาจมีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้องอย่างรุนแรง เจ็บชายโครงด้านขวา
- ระยะรุนแรงที่สุดคือไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว วัดชีพจรไม่ได้ ความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เกิดภาวะช็อกหรือเลือดออกรุนแรง
Advertisements
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
นอกเหนือจากวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกตามมาตรการ 3 เก็บแล้ว ปัจจุบันยังมีวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกด้วย
วัคซีน CYD-TDV (Chimeric Yellow Fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine) ภายใต้ชื่อการค้า Dengvaxia คือ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดเดียวในขณะนี้ที่ผ่านการวิจัยและได้รับการรับรองแล้วว่า มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง
- สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ถึง 65.6%
- ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 80.8 %
ปัจจุบันวัคซีนดังกล่าวได้รับการรับรองให้ใช้ใน 13 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ผู้ที่เหมาะกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 – 45 ปี พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีกำหนดการฉีด 3 ครั้ง ฉีดห่างกันครั้งละ 6 เดือน ได้แก่ เดือนที่ 1 เดือนที่ 6 และเดือนที่ 12 เมื่อรับวัคซีนแล้วสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้นาน 5-6 ปี ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา
ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้ คือ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอายุ 9 – 45 ปี เนื่องจากข้อมูลทางคลินิกที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ, ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่มีอาการป่วยฉับพลัน, สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร
Advertisements