ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลยื่นภาษีกันแล้ว หลายคนที่มีประสบการณ์ก็คงจะรู้ ๆ กันดีว่ายื่นผิดชีวิตเปลี่ยน แถมคำนวณพลาดทีเดียวก็เตรียมเละ ๆ เทะ ๆ กันยาวไปยาวไป และนี่คือตัวอย่าง 8 ข้อหลัก ๆ ที่เชื่อว่าคนยื่นภาษีเคยพลาดกันมาแล้วทั้งนั้น! ปีนี้ใครที่กำลังจะยื่น ยื่นเร็ว ยื่นช้า หรือยื่นเป็นปีแรก ก็เตรียมตัวรับมือกับ 8 ข้อนี้ให้ดีจะได้ไม่ยื่นภาษีพลาด!
1. ระบุเงินได้ผิด
ข้อนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง ไม่ใช่! เป็นขั้นแรกของการยื่นภาษี นั่นก็คือการคำนวณเงินได้ต่าง ๆ ซึ่งความงงงวยนั้นก็มาจากเงินได้ที่มีได้หลายประเภท รวม ๆ แล้วก็ 8 ประเภทด้วยกัน…คุณพระ! ไม่ว่าจะเป็นเงินได้แบบจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส หรือเงินได้แบบค่าจ้างทั่วไป เช่น ฟรีแลนซ์ และเงินได้จากค่าสัญญาหรือลิขสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งความผิดพลาดส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเลือกระบุเงินได้ผิดประเภทนั้นเอง
2. คำนวณภาษีเงินได้ผิด
มาต่อกันที่ข้อสองที่ยังต้องบอกว่าเป็นอีกข้อที่ชวนคำนวณผิดเอามาก ๆ เพราะภาษีเงินได้นั้น มันไม่ใช่แค่รายได้ แต่มันหมายถึงค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาคต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น เงินได้นั้นไม่ใช้แค่เงินเดือนทั้งปี แต่หมายรวมถึงโบนัส ค่าใช้จ่าย ก็หมายถึงค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว (ที่รัฐประกาศว่าใช้ในการลดหย่อนได้) ค่าลดหย่อนจากคู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา และสุดท้ายเงินบริจาค จะเห็นได้ว่าภาษีเงินได้นั้นคำนวณมาจากหลายช่องทางมาก จึงไม่น่าแปลกที่หลาย ๆ คนจะคำนวณผิดอยู่บ่อย ๆ และเข็ดขยาดกับการยื่นภาษีไปเลย
3. ภาษีจากปันผลกองทุนหรือหุ้น ต่าง ๆ
ข้อนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งข้อปราบเซียนที่ต้องอาศัยความเข้าใจในการยื่นภาษีพอสมควร อย่างปันผลกองทุนรวมนั้นจะมีให้เลือกตั้งแต่เปิดว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ หลายคนเลือกไม่หักแต่ดันลืมมาหักตอนยื่นภาษี หรือ ปันผลจากหุ้นที่ซื้อไว้ก็มีหลายประเภท ปันผลจากหุ้นที่ยกเว้นภาษีหรือมีภาษี 20% เป็นต้น ซึ่งในการยื่นก็จะมีแบบฟอร์มในระบบที่ยื่นแยกต่างหาก ซึ่งถ้าไม่มีความเข้าใจก็จะได้ตัวเลขในระบบไม่ตรงกับเอกสาร ยื่นไปก็ผิดไปอีกกก
4. เข้าใจการลดหย่อนจากประกันชีวิตผิด
อาจจะเป็นเพราะภาษาทางการหรืออ่านรายละเอียดไม่เข้าใจ ทำให้หลายคนคิดว่าซื้อประกันชีวิตเยอะ ๆ จะยิ่งลดหย่อนได้มาก แต่คุณขาซื้อเยอะแค่ไหนก็ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทค่า และไม่ใช่กรมธรรม์ละ 100,000 นะคะ แต่หมายถึงรวมหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาทค่า ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพก็ได้ไม่เกิน 15,000 และเบี้ยประกันบำนาญได้ไม่เกิน 200,000 บาท
Advertisements
5. พ่อแม่ลดหย่อนได้ครั้งละคน คนละครั้ง
คืองี้ค่ะคุณคะ สมมติว่าครอบครัวคุณมีลูกทั้งหมด 2 คน นั้นหมายความว่าคุณและพี่/น้องต้องเลือกว่าใครจะใช้ชื่อคุณพ่อในการลดหย่อนหรือใครจะใช้ชื่อคุณแม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณทั้งสองคนจะใช้ชื่อทั้งคุณพ่อและคุณแม่ในการยื่นพร้อมกันทั้งสองคน ทำไม่ได้นะคะ และข้อแม้อีกอย่างก็คือคุณพ่อและคุณแม่ต้องมีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 และอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นแล้วเท่านั้นจึงจะลดหย่อนได้
6. หลักฐานการรับเงิน หักภาษี ไม่เคยเก็บไม่เคยขอ
ข้อนี้หลายคนพลาดมาแล้วและยุ่งยากมากในการตามหลักฐานเพื่อเอามายื่น ทุกครั้งที่คุณรับจ้างทำงานไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม หากมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย คุณต้องระลึกไว้เสมอว่าต้องเก็บหลักฐานเอาไว้ หากไม่ได้ก็ต้องร้องขอ ไม่งั้นชีวิตจะยุ่งยากตอนยื่นภาษีแน่นอน โดยเฉพาะใบ 50 ทวิ ต้องไม่ลืมขอเด็ดขาด
7. ใบเสร็จรับเงินทำบุญได้แล้วทิ้ง
คุณคะความใจบุญของเรานั้นเอามาลดหย่อนภาษีได้นะคะ ไอ้โรคเห็นใบเสร็จแล้วชอบทิ้งต้องเลิกนะคะ เพราะเมื่อถึงเวลายื่นภาษีขึ้นมาถึงคุณจะจำตัวเลข จำวันที่ได้ ก็ไม่ช่วยจ้า เพราะสิ่งที่เค้าต้องการเป็นหลักฐานก็คือใบเสร็จรับเงินค่ะคุณ
8. ชะล่าใจไม่เผื่อเวลายื่น/เงินได้น้อยไม่ยื่นดีกว่า
เชื่อว่าข้อนี้มีใครหลายคนเป็นและกำลังคิดจะทำ เราขอเตือนว่าพลาดมากอย่าทำเลยค่ะ โดยเฉพาะที่คิดว่าเงินได้น้อยไม่ยื่นภาษีดีกว่า เพราะคุณจะแน่ใจได้ยังไงว่าเงินได้ไม่ถึงจริง ๆ ? แต่จะมั่นใจหรือไม่มั่นใจก็ตามการยื่นภาษีไว้ก่อนก็ช่วยป้องกันปัญหาที่จะตามมาได้ เพราะการโดนเรียกคืนภาษีย้อนหลังและข้อหาจงใจหนีภาษีนั้นมันไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ส่วนใครที่กำลังนิ่งนอนใจเก็บภาษีไว้ค่อยยื่นใกล้ ๆ เราขอแนะนำว่าอย่าดีกว่าค่ะ รีบยื่นตั้งแต่เนิ่น ๆ หากโดนเรียกเอกสารเพิ่มเติมคุณจะได้มีเวลาเตรียมทัน หรือมาเช็กแล้วขาดเอกสารฉบับไหนก็จะได้มีเวลาเตรียม อย่าปล่อยไว้จนกลายเป็นยื่นภาษีช้า จะถือว่าพลาดมาก
Advertisements