ช่องว่างระหว่างวัยถือเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เนื่องจากช่วงอายุที่แตกต่างกันส่งผลให้คนในองค์กรมีพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ และรูปแบบในการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งความต่างนั้นสามารถเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือความหลากหลายจะเป็นขุมพลังแห่งความคิด ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากมาย ข้อเสียก็คือความคิดบางอย่างของคนแต่ละช่วงวัยอาจแตกต่างกันเกินไป จนมองหาจุดร่วมไม่ได้
เพื่อนๆ คนไหนที่กำลังประสบปัญหาในการทำงานร่วมกับคนต่างวัย ตาม UndubZapp มาเรียนรู้วิธีวางตัวเข้ากับคนแต่ละเจเนอเรชั่นพร้อมๆ กันเลยค่ะ หากเราทุกคนช่วยกันปรับ-ลดให้กันคนละเล็กละน้อย องค์กรก็จะมีความเป็นปึกแผ่น และเต็มไปด้วยความสามัคคีอย่างแน่นอนค่ะ
1.ยอมรับความแตกต่าง
คำว่า Gen หรือ Generation (เจเนอเรชั่น) แปลว่า ยุคสมัย
การแบ่งกลุ่มคนตาม Gen หรือช่วงอายุจะสามารถแบ่งได้เป็น 4 เจน ดังนี้
- Generation B (Gen-B) ยุค Baby boomer หรือ ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2489-2507
กลุ่มวัยผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นพวกอนุรักษ์นิยม ค่อนข้างเคร่งเครียดเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี มีความอดทนสูง
- Generation X (Gen-X) หรือ ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522
กลุ่มวัยทำงาน ส่วนใหญ่ชอบอะไรง่ายๆ สบายๆ ทำงานตามหน้าที่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ก็ปรับตัวเก่ง
- Generation Y (Gen-Y) ยุค Millennials หรือ ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523-2540
กลุ่มวัยแรกเริ่มของวัยทำงาน โตมาพร้อมเทคโนโลยี ต้องการการยอมรับสูง แต่จะไม่ทนถ้าสิ่งนั้นไม่ตอบโจทย์ชีวิต
- Generation Z (Gen-Z) หรือ ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป
กลุ่มเด็กยุคใหม่ เกิดมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน ยอมรับความแตกต่างง่าย ต้องการเข้าใจทุกสิ่งรอบตัว
เมื่อคนแต่ละ Gen มีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในแง่นิสัยใจคอและความคิด ขั้นแรกของการทำงานร่วมกับคนต่าง Gen ให้มีความสุข คือ การเข้าใจในความแตกต่าง และยอมรับตัวตนของคนแต่ละ Gen ให้ได้ อย่าพยายามยัดเยียดรูปแบบความคิดของตนให้อีกฝ่าย การที่บุคคลหนึ่งมีทัศนคติ ความเชื่อ หรือรูปแบบการใช้ชีวิตแตกต่างจากเรา มิได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดีเสมอไป
Featured image ©pexels.com
Advertisements
2.นำจุดดี-จุดด้อยมาเป็นจุดแข็ง
การยอมรับและเข้าใจในความต่างของอีกบุคคลนั้นเป็นทฤษฏีที่ง่ายแสนง่ายในหน้ากระดาษ แต่ทำได้ยากยิ่งในชีวิตจริง เพราะเมื่อถึงเวลาลงสนาม และต้องเจอกับสถานการณ์จริงเข้า หลายๆ คนมักเกิดความสงสัยว่าทำไมอีกฝ่ายถึงได้ทำตัวเช่นนี้ หรือคิดเห็นต่างเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา การทำความเข้าใจและยอมรับความต่างให้ได้จึงยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก เอาเป็นว่า ถ้าเกิดโมเมนต์นี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ให้นำจุดดีของเขามาปรับใช้ รวมถึงเรียนรู้จุดด้อยของเขา เพื่อสร้างจุดแข็งให้ตัวเองไปในตัว
Featured image ©pexels.com
3.หาจุดร่วม-สงวนจุดต่าง
บางครั้งความแตกต่างของคนแต่ละ Gen ก็ก่อให้เกิดปัญหาสื่อสารกันไม่เข้าใจ หาจุดร่วมกันไม่ได้ นอกจากการทำความเข้าใจในความแตกต่าง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่นแล้ว ข้อควรทำลำดับถัดไปก็คือการหาจุดร่วม-สงวนจุดต่างให้ได้ เพื่อขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ เมื่อใดก็ตามที่สื่อสารกันไม่เข้าใจ ถกเถียงกันอยู่สามวันแปดวันแล้วก็ยังหาทางออกไม่ได้ ให้พยายามโฟกัสจุดร่วมเป็นสำคัญ เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเห็นพ้องกันได้ง่ายที่สุด และทางที่ดีคือพยายามสงวนจุดต่างไว้ ไม่พูดซ้ำๆ ตอกย้ำความต่างอยู่ร่ำไป มิฉะนั้น นอกจากจะทำให้งานไม่เดินหน้าแล้ว ยังเสียเวลาโตเถียงกันโดยที่อีกฝ่ายจ้องเอาชนะกันด้วย ที่สำคัญ ไม่ควรนำความเห็นต่างไปคุยกันลับหลัง ป้องกันความขัดแย้งบานปลาย
Featured image ©pexels.com
4.ทำงานอย่างมืออาชีพ
ข้อควรทำอันดับหนึ่งในการทำงานร่วมกับคนต่างวัย คือ วางตัวอย่างเหมาะสม ทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่ว่าในความเป็นจริง เราจะรู้สึกเห็นต่างจากคน Gen อื่น หรือมิอาจเปิดใจยอมรับความแตกต่างได้จริงๆ แต่สิ่งที่หัวหน้างานสนใจไม่ใช่เรื่องละเอียดยิบย่อยขนาดนั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำงานให้ได้งานมาเป็นอันดับหนึ่ง หากคุณมัวแต่จ้องจับผิด หรือชี้ให้หัวหน้าเห็นถึงความแตกต่างระหว่าง Gen จนทำให้เนื้องานที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณเกิดความล่าช้า มีความเป็นไปได้สูงมากว่า หัวหน้าจะหันมาเพ่งเล็งคุณแทน ฉะนั้น ข้อควรทำก็คือเรียนรู้ที่จะอยู่ให้เป็น รู้จักสวมหัวโขนบ้างตามโอกาส ทำงานอย่างรู้หน้าที่ ใส่ความเป็นมืออาชีพให้ถูกเวลา หากทุกคุณร่วมมือร่วมใจกันทำเช่นนี้ งานจะเดินหน้าได้แบบไม่มีปัญหาแน่นอน
Featured image ©pexels.com
Advertisements