พระปรมาภิไธยใหม่ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” อ่านอย่างไรให้ถูกต้อง

1 ธันวาคม 2559 – สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับการกราบบังคมทูลเชิญ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมมหาราชจักรีวงศ์ แห่งราชอาณาจักรไทย เฉลิมพระปรมาภิไธย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” จนกว่าจะมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ อย่างเป็นทางการ

และเพื่อเป็นการออกพระนามได้อย่างถูกต้อง อันดับแซ่บ ขอนำเอาบทความจาก แฟนเพจ สำนักข่าวรอยัลเวิลด์ ประเทศไทย ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ มาให้ได้ทราบกันค่ะ

 

ขอถวายพระพรชัยมงคลแด่
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงานเว็บไซต์ อันดับแซ่บดอทคอม

 

พระปรมาภิไธยใหม่
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”

อ่านว่า
“สม – เด็ด – พระ – เจ้า – อยู่ – หัว – มะ – หา – วะ – ชิ – รา – ลง – กอน – บอ – ดิน – ทระ – เทบ – พะ – ยะ – วะ – ราง – กูน”

( อ้างอิงจากหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล ๐๐๐๗.๓/๒๘๑๗๘ วันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙)

สร้อยพระปรมาภิไธยมาจาก สร้อยพระนามาภิไธย เมื่อครั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จารึกในพระสุพรรณบัฎขณะนั้นว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราลงกรณฯ” ซึ่งจะมีการจารึกพระปรมาภิไธยเต็มอย่างเป็นทางการในพระสุพรรณบัฎต่อไป รวมทั้งลายพระปรมาภิไธยใหม่ “วชิราลงกรณ์ ปร.”

Advertisements

สำหรับการปฏิบัติถวายแด่พระมหากษัตริย์รัชกาลใหม่ หลังมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ได้แก่ การออกตราพระปรมาภิไธยใหม่ (วปร. = มหาวชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช) และการออกตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลใหม่ สำหรับตราเอกสารต่างๆ

 

ตราพระปรมาภิไธย

ตราพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ว.ป.ร.)

ตราพระปรมาภิไธย สำหรับพระมหากษัตริย์ รัชกาลใหม่ มีการออกแบบเช่นเดียวกับ ตราพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ ประกอบด้วย

พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี – พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ องค์พระปฐมบรมมหากษัตริย์ในพระบรมมหาราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเป็นราชศิราภรณ์ หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สำหรับสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า แสดงถึงการเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ที่ได้รับการกราบบังคมทูลถวาย เมื่อเสด็จประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๙ ชั้น) ตามแบบอย่างโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยา อันแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพ แผ่กระจายไปไกลทั่วทุกหนแห่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ทั่วทั้งแผ่นดิน

เลข ๑๐ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ – หมายถึง พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐
ว.ป.ร. – ย่อมาจาก “วชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช” อักษรพระปรมาภิไธย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”

สีตัวอักษร “ว.” สีขาวนวล – วันพระราชสมภพ (วันจันทร์ นับตามคติมหาทักษา)
สีตัวอักษร “ป.” สีเหลือง – วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
สีตัวอักษร “ร.” สีฟ้า – วันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙

ออกแบบโดย นายสุนทร วิไล จากกรมศิลปากร ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต วันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙

Advertisements

Advertisements

Advertisements