การชอปปิงถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งของผู้หญิงเรา แต่หากคุณชอปมากจนถึงขั้นซื้อของมาซ้ำกันโดยไม่รู้ตัวแล้วล่ะก็ คุณอาจจะต้องกลับมาถามตัวเองดูแล้วล่ะค่ะว่าคุณมีอาการเสพติดการชอปปิงหรือไม่ เพราะการเป็นโรค Shopaholic ส่งผลเสียต่อชีวิตไม่น้อย ที่แน่ๆ UndubZapp ขอทายว่าโรคนี้ส่งผลให้กระเป๋าสตางค์ของคุณแฟบลงอย่างรวดเร็วแน่นอน หลายคนอาจปฏิเสธว่าคุณไม่ได้เป็น ลองมาดูเช็กลิสต์ของ UndubZapp เพื่อหาคำตอบกันดีกว่าค่ะ
1. ซื้อมาแต่ไม่เคยใช้
อันนี้ไม่ได้หมายรวมถึงของขวัญจากคนอื่นนะคะ แต่หมายถึงสิ่งของที่คุณตัดสินใจซื้อมาด้วยตัวเอง แต่กลับไม่เคยเอาออกมาใช้จนบางครั้งคุณอาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเคยซื้อมา เช่น พวกรองเท้าใหม่เอี่ยมที่หลบอยู่ในซอกตู้ เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้แกะป้ายจนคุณต้องประหลาดใจเพราะไม่เคยเห็นมันมาก่อน
2. ซื้ออย่างไม่มีเหตุผล หรือไม่ได้วางแผนจะซื้อ
นักชอปหลายคนไม่เคยรู้ว่าตัวเองตัดสินใจซื้อของง่ายเกินไป โดยเฉพาะของใช้ที่ความจริงแล้วคุณแทบไม่จำเป็น แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะอารมณ์ชั่ววูบ หรือความรู้สึกอยากได้จริงๆ ในสายตาคนภายนอกก็มักมองว่าเป็นการซื้อที่ดูไร้เหตุผล ยิ่งหากเกิดขึ้นบ่อยด้วยแล้ว คุณต้องเริ่มพิจารณาตัวเองแล้วล่ะค่ะ
3. ชอปปิงระบายอารมณ์
คนที่เป็นโรค Shopaholic มักจะหาโอกาสออกไปชอปปิงทุกครั้งที่อารมณ์ไม่ปกติ เช่น รู้สึกอารมณ์เสีย เครียด เหงา ขาดความมั่น หรือการเสียศูนย์ในเรื่องต่างๆ ซึ่งการชอปปิงจะถือเป็นการระบายอารมณ์ของคนเหล่านี้ ท้ายที่สุดจึงมักจะลงเอยด้วยการซื้อแบบบ้าคลั่งและมีปัญหาอื่นๆ ตามมาไม่รู้จบ เช่น หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น
4. รู้สึกรีบร้อนและตื่นเต้นเวลาได้ชอปปิง
คนที่เสพติดการชอปปิงมักจะมีความสุขอยู่กับการซื้อ มากกว่าการได้ครอบครอง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะหมดความสนใจในสิ่งของนั้นหลังจากที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน ตรงกันข้าม กลับมีความกระหาย ร้อนรนที่จะซื้อของใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก
Advertisements
5. มักสำนึกผิดหลังการชอปปิง
ไม่ใช่ว่าเหล่านัก Shopaholic จะไม่รู้ตัวนะคะ ว่าพวกเขากำลังทำผิดอยู่ แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ จึงมักจบลงด้วยความรู้สึกผิดหลังพบว่าตัวเองซื้อของมากมายโดยไม่รู้ตัว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะหยุดชอปหรอกนะคะ
6. ปกปิดพฤติกรรมการชอปปิง
หากคุณเริ่มมีพฤติกรรมซ่อนของที่ตัวเองชอปมาไม่ให้คนในครอบครัวเห็นแล้วล่ะก็ แสดงว่าคุณต้องเคยได้รับคำบ่นจากคนรอบข้างมาบ้างแล้ว ซึ่งความจริงแล้วคนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์คุณเรื่องนี้ได้มักมีแต่คนที่หวังดีกับคุณทั้งนั้น และการปกปิดไว้จะยิ่งทำให้อาการของคุณแย่ลงค่ะ
7. คุณรู้สึกเครียดในวันที่ไม่ได้ชอปปิง
คนที่เป็นโรค Shopaholic อย่างแท้จริงมักมีอาการเครียด และกระวนกระวายในวันที่ไม่ได้ออกไปซื้ออะไร บางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการซื้อของออนไลน์ในวันที่ติดภารกิจไม่สามารถออกไปชอปปิงได้ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า คุณอาการหนักไม่แพ้กับติดยาเสพติดเลยทีเดียว
หากใครที่รู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายเสพติดการชอปขนาดหนัก ก็อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เพราะทุกปัญหามีทางแก้เสมอ เช่นเดียวกับโรค Shopaholic ที่ UndubZapp มาพร้อมคำแนะนำดี ๆ ในการหักดิบโรคนี้กันค่ะ
- ตัดบัตรเครดิตซะ ขอให้คุณพกแต่เงินสดในจำนวนจำกัด โดยไม่ต้องพกแม้แต่บัตรเอทีเอ็มค่ะ เพราะแน่นอนว่าหากไม่มีเงิน คุณก็ซื้อของไม่ได้แน่นอน
- พาตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยง เช่น ไม่พาตัวเองไปในสถานที่ชอปปิง ไม่แม้แต่การเดินผ่านค่ะ เพราะหากคุณเห็นป้ายลดราคาเมื่อไหร่ก็อาจจะกระโจนเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
- หากิจกรรมที่มีประโยชน์อื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือ ดูโทรทัศน์เป็นต้น
Advertisements