อาการ PMS เป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ มักเกิดขึ้นช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเป็นประจำเดือน เชื่อว่าเกี่ยวกับการที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีอาการคัดหน้าอก บวมน้ำ ท้องผูก ฮอร์โมนแปรปรวน ผู้หญิงที่มีอาการ PMS มักรู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย บางรายอาจอยากอาหารมากผิดปกติ หรือเกิดอาการซึมเศร้า กลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต
UndubZapp ขอแนะนำวิธีดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการ PMS ก่อนเป็นประจำเดือน ด้วยอาหารที่หาทานได้ง่ายใกล้ๆ ตัว อาหารที่ควรทานก่อนช่วงมีประจำเดือน เพื่อลดความแปรปรวนของฮอร์โมนจะมีอะไรบ้าง ตามเราไปทำความรู้จักพร้อมๆ กันเลยค่ะ
1.ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
การศึกษาพบว่า ไอโซฟลาโวน (isoflavone) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารประเภทฟลาโวนอยด์ (flavonoid) มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการ PMS อย่างเกิดผล เนื่องจากไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองทำงานคล้ายๆ กับฮอร์โมนเพศหญิง การรับประทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองก่อนเป็นประจำเดือน จึงช่วยลดอาการคัดหน้าอก อาการปวดศีรษะ อาการซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด รวมถึงอารมณ์แปรปรวนต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ก่อนช่วงที่จะเป็นประจำเดือนได้เป็นอย่างดี
2.อาหารแคลเซียมสูง
กลุ่มอาการ PMS ก่อนมีประจำเดือนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยมากมักมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด จึงควรรับประทานวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการ PMS โดยตรง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด ปลาตัวเล็ก ผักสีเขียวเข้ม
Advertisements
3.คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
สำหรับผู้ที่มักมีอาการ PMS ในรูปแบบอยากทานอาหารมากผิดปกติ ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนมากกว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เพราะมีเส้นใยอาหารสูง ทำให้รู้สึกอิ่มนาน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ จึงสามารถควบคุมความหิวระหว่างวันได้ดียิ่งขึ้น อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต คีนัว ลูกเดือย
4.น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส
น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสประกอบด้วยกรดไขมัน omega-6 และเป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมน จึงสามารถนำมาใช้ป้องกันอาการต่างๆ ก่อนมีประจำเดือน เช่น ปวดศีรษะ เจ็บเต้านม หรือลดอารมณ์เหวี่ยงวีนได้เป็นอย่างดี อาจพบอาการปวดท้องหรือท้องเสียในบางราย อย่างไรก็ตาม น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดด้วย ผู้ป่วยที่มีประวัติเลือดออกผิดปกติ และผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำทันตกรรม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มรับประทาน
Advertisements