“ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ Burnout กลายเป็นประเด็นที่คนพูดถึงกันมากที่สุดไปทันทีที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมากดปุ่ม ระบุว่าได้เพิ่มในทะเบียนเป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้หลายคนเริ่มตื่นตัวกับภาวะที่คุกคามความสุขของคนวัยทำงานอย่างเราๆ
อาการของภาวะหมดไฟ
- อ่อนเพลียแบบหาสาเหตุไม่ได้ หมดแรง ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดเมือยตามตัว
- เบื่อหน่าย ไม่อยากทำงาน รู้สึกไม่มีความสุขเวลาทำงาน
- ไม่สุงสิงกับใคร ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว ครอบครัว เพื่อนร่วมงานน้อยลง
แล้วถ้าวันหนึ่งตัวคุณเองโดนเจ้าภาวะนี้เล่นงาน จะปุ๊บปั๊บเดินไปบอกหัวหน้าขอลาออกดื้อๆ ก็คงจะเป็นไปได้ยาก ต่อให้ไฟคุณมอดไหม้จนไม่เหลืออะไร แต่ยังมีภาระความรับผิดชอบ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก หรือแม้แต่ทริปเที่ยวรอบโลกที่ยังรั้งให้คุณไม่ด่วนตัดสินใจลาออกจากงานกันง่ายๆ
คำถามคือ แล้วจะดีลยังไงกับภาวะหมดไฟ ใจหมดแรง ในขณะที่งานก็ต้องทำ ใจก็ดราม่าไปด้วย อันดับแซ่บมีเทคนิคดีลกับเรื่องนี้ให้ชีวิตง่ายขึ้น อาจจะไมได้ทำให้คุณหายขาดจากภาวะหมดไฟได้ทันที แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ทุเลาเบาบางขึ้น มีแรงพอที่จะรับมือกับมันได้แบบไม่ดราม่าชีวิตไปมากกว่านี้
เรื่องดราม่าในชีวิต
เริ่มกันที่ต้นตอของปัญหา เรื่องหนักๆ ที่มักทำให้คนวัยทำงานหมดไฟ หมดใจในการทำงานกันง่ายๆ มีอยู่ไม่กี่เรื่อง
- ตัวงานที่เนื้องานอาจจะยากเกินความสามารถ ทำงานที่ไม่ชอบ ทำให้เกิดความท้อแท้ ไม่อยากทำ
- ตัวคน เรื่องของคนเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่มักจะทำให้คนเราหมด หัวหน้า ลูกน้อง ขาดการใส่ใจจากองค์กร
- ตัวเอง ทำงานหนักจนไม่ได้มีเวลาพักผ่อน ต้องรับภาระหนักเพียงลำพัง (ต้องดูแลพ่อแม่ลำพัง, แม่เลี้ยงเดี่ยว, พ่อเลี้ยงเดี่ยว) หรือมีปัญหาส่วนตัว (หนี้สิน, สุขภาพ, ชีวิตคู่) รุมเร้า
จะรับมือกับอาการหมดไฟอย่างไร ถ้าคุณยังต้องทำงานอยู่
เมื่อถึงไคลแมกซ์ของเรื่องกันแล้ว จะรับมืออย่างไร เมื่อภาวะหมดไฟรุมเร้าจนคุณหมดไฟที่จะทำงาน หมดใจกับงานที่ทำ
1.หมดไฟเพราะตัวงาน แก้ด้วย…เติมเชื้อไฟให้อยากตื่นไปทำงาน
ก่อนอื่นต้องเติมเชื้อเพลิงให้เราอยากตื่นไปทำงาน ท่องไว้เลยว่า งานคือเงิน เงินคืองาน จากนั้นก็เริ่มปรับทัศนคติที่มีต่องาน หยุดมองว่า งานคืองาน แล้วลองหันกลับไปมองว่า งานที่ได้รับมอบหมาย มันมีประโยชน์กับตัวเอง แล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างไร
Advertisements
2.หมดไฟเพราะตัวคน แก้ด้วย…ลองนั่งในใจเขาบ้าง
มีไม่น้อยที่ภาวะหมดไฟทำงาน เกิดมาจากปัญหากับคนในองค์กร เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน คู่ค้า หรือลูกค้า บางการกระทำของคนอื่นอาจไม่ถูกใจคุณไปบ้าง และมักจะทำให้คุณไม่เข้าใจว่า ทำไปได้ยังไง ถ้าเป็นคุณจะไม่มีวันทำเด็ดขาด ที่นี้ เราอยากให้คุณลองวางความคิดตัวเองลง แล้วลองมองมาจากมุมของอีกฝ่ายดู คุณจะพบเหตุผลหรือที่มาของการกระทำนั้นในสถานการณ์ของอีกฝ่ายที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
3. หมดไฟเพราะตัวเอง แก้ด้วย…เปลี่ยนแปลงตัวเอง
ฝึกที่จะเปลี่ยนตัวเอง ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางดีและทางแย่ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้เป็นนิสัย หาเวลาพักให้สมอง ร่างกาย จิตใจได้ผ่อนคลายจากความเครียดบ้าง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ๆ คนที่เป็น toxic พยายามอยู่กับคนที่มีความหมายกับคุณ เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง
รู้จักกำหนดกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน ไม่ว่างานจะเสร็จหรือไม่ก็ตามเมื่อถึงเวลาที่เรากำหนดเอาไว้ ให้พักเรื่องานเอาไว้ก่อน แล้ววันต่อมาค่อยกลับมาทำต่อ การนั่งหลังคดหลังแข็งอยู่จนดึกก็ไม่ได้หมายความว่างานที่ออกมาจะดี มีคุณภาพ แพราะคุณล้าไปหมดแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพย่อมลดลง
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับวิธีรับมือกับภาวะ หมดไฟ หมดใจ เวอร์ชั่นคนที่ยังไม่พร้อมจะลาออกจากงาน หวังว่าพอจะเป็นแนวทางในการรับมือกับภาวะเจ็บป่วยทางใจอย่างภาวะเบิร์นเอ้าท์หรือหมดไฟทำงาน ตามที่ถูกระบุว่าเป็นโรคใหม่สำหรับวัยทำงาน อาจจะเป็นโจทย์ที่แก้ยากพอสมควร แต่เชื่อเถอะว่าถ้ามีความตั้งใจ ความพยายามที่จะหลุดพ้นจากภาวะหมดไฟ ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้
Advertisements