อาการคันตามผิวหนัง คันในร่มผ้า คันตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า หรือผิวหนังบริเวณอับชื้น ซอกหรือรอยพับตามร่างกาย ถึงจะไม่ได้เป็นอาการร้ายแรง แต่สร้างความรำคาญให้กับคนที่กำลังประสบภัย “คัน” ได้ไม่น้อยทีเดียว ซึ่งสาเหตุหนึ่งของอาการคันตามผิวหนังที่มักจะพบกันบ่อยๆ
โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนหรืออากาศค่อนข้างเปียกชื้น ก็คือ การติดเชื้อจากเชื้อราตามผิวหนัง ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ไม่สามารถหายเองได้ หน้าฝนมาแล้ว ลองมาเช็คอาการกันหน่อยว่า ที่คันยุบคันยิบอยู่นั้น เป็นอาการคันจากการติดเชื้อจากเชื้อราหรือเปล่า จะได้หาวิธีป้องกันให้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลาม
คันแบบไหน มาจากเชื้อรา
อาการคันที่มีอาการผื่นแดงคัน โดยหากเป็นการติดเชื้อกลาก ก็จะพบผื่นปื้นแดง ขอบชัดเป็นวง ส่วนอาการคันที่เกิดจากการติดเชื้อยีสต์จะเป็นผื่นแดงเข้ม แฉะ และมีตุ่มรอบๆ อาจมีน้ำเหลืองซึมหากผิวหนังเกิดการอักเสบมากๆ มีผืนนูนแดงขึ้นเป็นวง หรืออาจนูนแดงร่วมกับมีอาการคัน ผิวหลุดลอกจนเห็นผิวหนังชั้นใน เล็บขาวซีด
เชื้อราคืออะไร?
เชื้อรา คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งพืช สัตว์ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือโปโตซัว ไม่สามารถสังเคราะห์แสงหรือสร้างอาหารเองได้ ดํารงชีวิตอยู่ได้ด้วยการดูดซึมสารอาหารจากการสิ่งมีชีวิตอื่น สามารถแพร่กระจายแบ่งตัวได้ไม่จำกัดในสภาวะที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ชนิดของเชื้อรา อุณหภูมิ ความชื้นและสภาพแวดล้อม โดยเชื้อราที่ผิวหนังจะเกิดขึ้นที่ผิวหนัง อาศัยเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วของเราเป็นอาหาร สามารถเกิดได้ทุกส่วนบนอวัยวะในร่างกาย
Advertisements
ติดเชื้อจากเชื้อราเป็นโรคอะไรได้บ้าง
อาการติดเชื้อจากเชื้อราผิวหนังมีหลายชนิด แต่หลักๆ แล้วเรามักจะติดเชื้อจากเชื้อราตามผิวหนัง 3 กลุ่มอาการ
- โรคกลาก มีลักษณะเป็นดวงๆ ขอบแดง ผิวตรงกลางมักดูปกติ แต่มีสะเก็ดหรือมีขุยที่ขอบเด่นชัด สามารถเกิดได้ทั่วทั้งลำตัว ตั้งแต่หัวจรดเท้า พบได้บริเวณแผ่นหลัง ใบหน้า และลำตัวมักมีอาการคันมาก คันยิบๆ ตลอดเวลา ส่วนใหญ่กลุ่มที่เป็นมักจะเป็นกลุ่มคนที่ใช้แรงใช้กำลัง เหงื่อออกเยอะ เช่น นักกีฬา ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือนอกตัวอาคาร
- โรคเกลื้อน มองแบบผิวเผินจะมีความคล้ายกับกลาก แต่จะต่างกันตรง เป็นวงเรียบๆ สีขาว หรือสีน้ำตาล หรือสีดำ ไม่มีอาการคันร่วมด้วย ยกเว้นเวลาเหงื่อออก มักจะเกิดผื่นคันตามลำตัว
- การติดเชื้อราแคนดิดา เชื้อราจากความอับชื้น มีลักษณะเป็นปื้นสีแดง มีจุดแดงๆ กระจายโดยรอบ มักพบบริเวณที่อับชื้น เช่น ข้อพับ ขาหนีบ รักแร้ ลักษณะเป็นผื่นเปียกแฉะ สีแดง มีอาการคันร่วมด้วย สามารถลามได้ มีโอกาสเกิดในช่องปากลักษณะคล้ายฝ้าขาวบริเวณลิ้น โดยมากจะพบได้ในกลุ่มคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จริงๆ แล้วเชื้อราตัวนี้อยู่ในร่างกายของทุกคน แต่จะไม่สำแดงอาการจนกว่าภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ
การรักษา
การติดเชื้อจากเชื้อราตามผิวหนัง โดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องการได้รับการรักษาจากแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะวินิจฉัยอาการและค้นหาสาเหตุของอาการติดเชื้อจากเชื้อราที่ผิวหนังว่ามาจากสาเหตุใด และให้ยาเพื่อรักษาอาการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นยาในกลุ่มฆ่าเชื้อราหลายๆ ชนิด เช่น โคไตรมาโซล(clotrimazole) ฟลูโคนาโซล (fluconazole) ไอทราโคนาโซล (itraconazole) โดยหนึ่งในชนิดยาที่รักษาเชื้อรา คือ “คีโตโคนาโซล” (Ketoconazole) ยกเว้นบางกรณี เช่น เชื้อราบนหนังศีรษะ เส้นผมและที่เล็บ ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์ว่าควรจะกินยาร่วมด้วยหรือไม่ หากทายาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง หมั่นดูแลรักษาความสะอาด อาการก็จะดีขึ้นและหายได้ในที่สุด นอกจากเชื้อราที่เกิดจากความชื้นของสภาพอากาศแล้ว ยังมีเชื้อราที่มาจากสัตว์เลี้ยงอีกด้วยซึ่งส่วนใหญ่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงจากการที่พาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงในห้องนอนด้วย
ป้องกันไว้ดีกว่า
อาการติดเชื้อราตามผิวหนัง สามารถกลับมาเป็นซ้ำไ โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวมากและคนที่มีเหงื่อออกมาก วิธีการป้องกันและลดโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ คือการดูแลผิวหนังให้แห้ง และสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป หรือเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าไม่ระบายอากาศ หรือหากออกกำลังกายมาควรเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังออกกำลังกายทันที ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ เช่น
- รักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน อาบน้ำ ล้างหน้า ทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ
- หลังการอาบน้ำ ต้องเช็ดตัวให้แห้งสนิท ไม่ปล่อยให้ผิวหนังเกิดความอับชื้นโดยเด็ดขาด
- หมั่นซักเสื้อผ้าให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง ฆ่าเชื้อราให้ตายสนิท
- ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เสื้อออกกำลังกาย และชุดชั้นใน
- เปลี่ยนถุงเท้าใหม่ทุกวัน ไม่ใส่ถุงเท้าซ้ำ นำรองเท้าไปซักและตากแดดบ่อยๆ
- สวมใส่รองเท้าแตะภายในโรงยิมหรือบริเวณตู้ล็อคเกอร์ ป้องกันการติดเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้า
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้า ใช้ผ้าเช็ดตัว รวมถึงใช้เครื่องนอนร่วมกับผู้อื่น
- ควรนำผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และเครื่องนอน ไปซัก ตากแดด หรืออบฆ่าเชื้ออาทิตย์ละครั้ง
แหล่งข้อมูล rama.mahidol.ac.th ,
Advertisements