3 สถานที่จริง “บุพเพสันนิวาส” เที่ยวคะนึงถึงออเจ้า ‘คุณพี่หมื่น-แม่การะเกด’

วันนี้ Undubzapp จะพาไปเยือน 3 สถานที่จริงในละครพีเรียดดัง “บุพเพสันนิวาส” พร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เราตื่นเต้นไปพร้อมๆ กับนางเอกของเรื่องที่ตื่นตาตื่นใจกับสถานที่สำคัญๆ ในอดีตค่ะ

 

1. วัดไชยวัฒนาราม

ที่แรก วัดไชยวัฒนาราม ฉากสำคัญในละคร บุพเพสันนิวาส เพราะเป็นฉากที่เกศสุรางค์ได้พบกับการะเกดเป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดค่ะ วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่รอบนอกของเกาะเมืองอยุธยาไปเล็กน้อยและอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายให้พระราชมารดา แต่ความสำคัญไม่ได้มีแค่นั้น วัดแห่งนี้ยังได้เป็นที่จัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์เกือบทุกพระองค์ของอยุธยาอีกด้วย และยังเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวกหรือพนมเปญอีกด้วย ซึ่งได้จำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด ที่เขมรด้วยค่ะ สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นน่าสนใจคือ ปรางค์ประธานที่ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของพื้น รายล้อมด้วยปรางค์บริวาร อีก 4 องค์ค่ะ ข้อควรรู้อีกข้อก็คือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศค่ะ

 

2. วัดพุทไธศวรรย์

ที่ต่อไป วัดพุทไธศวรรย์ เป็นฉากที่เกศสุรางค์ในร่างการะเกดได้หลุดผ่านประตูที่ตรึงไว้ด้วยอาคมไปได้ และพระอาจารย์ได้บอกว่า เพราะแม่หญิงคนนี้ไม่ใช่คนที่นี่จึงผ่านมนตราแห่งอาคมได้ค่ะ วัดพุทไธศวรรย์ พระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่งของจังหวัดอยุธยาแห่งหนึ่ง จุดที่น่าสนใจควรจะไปศึกษาที่สุดแห่งหนึ่งภายในวัด คือ ปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ซึ่งเป็นศิลปะแบบขอมค่ะ และยังมีอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หนึ่งที่นักท่องเที่ยวควรจะหาเวลามาสักการะ คือ องค์พ่อจตุคามรามเทพ ซึ่งอยู่ในวิหารด้านหลัง นั่นเองค่ะ ข้อควรรู้ก็คือ วัดพุทไธศวรรย์ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาไปเยอะ จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากสงครามไทยกับพม่าครั้งต่างๆ น้อยมาก เราจึงยังได้เห็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญยังคงสภาพดีอยู่จะชำรุดเสียหายไปบ้างก็เพราะผ่านกาลเวลาค่ะ โดยเฉพาะพระระเบียงที่นางเอกเดินผ่านนั้น จะอยู่รอบองค์พระมหาธาตุ พระพุทธรูปเหล่านี้แต่เดิมเป็นพระพุทธหินทราย ฉาบปูนและลงรักปิดทอง ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลง ทำให้ปูนที่พอกกะเทาะหลุด พระพุทธรูปหินทรายซึ่งประกอบขึ้นด้วยหินทรายหลายชิ้นจึงตกหล่นและสูญหายไป พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคเงินบูรณะขึ้นใหม่ค่ะ

Advertisements

 

3. ป้อมเพชร

ที่สุดท้าย ป้อมเพชร คือ ป้อมปราการสำคัญแห่งยุคกรุงศรีอยุธยา ที่ยังเหลืออยู่จากเดิมที่มีอยู่ 29 ป้อม รูปทรงป้อมแบบหกเหลี่ยม ผนังก่อด้วยอิฐสลับด้วยศิลาแลง มีช่องเชิงเทินก่อเป็นรูปโค้งซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ประจำป้อม สร้างในสมัย พระมหาจักรพรรดิ์ (กษัตริย์องค์ที่15) ในอดีตป้อมเพชรแห่งนี้เป็นปราการด่านสำคัญที่คอยสกัดไม่ให้ข้าศึกผู้มารุกรานผ่านทางแม่น้ำนั้นรุกล้ำเข้าไปสู่พระนครได้  โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยารอยต่อแม่น้ำป่าสัก อยู่ตรงข้ามกับวัดพนัญเชิงวรมหาวิหาร และบริเวณนี้ยังเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญในอดีตอีกด้วย มีข้อควรรู้ว่า กำแพงเมืองและป้อมต่างๆ ในยุคกรุงศรีอยุธยาได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นปราการป้องกันข้าศึกจำนวนมากรอบเกาะกรุงศรีอยุธยา ในคราวแรกเริ่มสร้างป้อม ล้วนใช้ไม้เป็นสิ่งก่อสร้าง ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้มีการขยายขอบเขตราชสีมาไปถึงตลิ่งแม่น้ำ จึงได้มีการสร้างกำแพงด้วยอิฐและศิลาแลงขึ้นค่ะ

© รูปต้นฉบับ: matichon

© รูปต้นฉบับ: busbuddythailand

Advertisements

Advertisements

Advertisements