‘คำพูด’ เปรียบเสมือนดาบสองคม สามารถให้ได้ทั้งคุณและโทษในขณะเดียวกัน บางครั้งคำพูดของเราก็ชุบชูใจคนอื่นได้ แต่บางครั้งคำพูดของเราก็ทำให้ใครบางคนเจ็บช้ำน้ำใจได้เช่นกัน แม้กระนั้น การสื่อสารพูดคุยก็เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง เราทุกคนจึงควรเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนนิสัยการพูด เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผาสุข ดังที่หลายๆ คนพูดว่า ‘แค่พูดเป็น ชีวิตก็เปลี่ยน’ นั่นแหละ
UndubZapp ขอชวนเพื่อนๆ ทุกคนมาฝึกทักษะการพูดในชีวิตประจำวัน เสริมสร้างความสามัคคีทุกหมู่เหล่า ด้วยการทิ้งนิสัยการพูดไม่ดีไว้ในอดีต แล้วหันมาพูดเพราะเสนาะหู เป็นการต้อนรับศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึงกันค่ะ เพราะแค่เปลี่ยนนิสัยการพูดนิดๆ หน่อยๆ ก็สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของผู้ฟังได้ในบัดดล มาถนอมน้ำใจคนที่เรารักด้วยคำพูดกันนะคะ
เคล็ดลับการพูดที่ดี ข้อที่ 1 : ไม่พูดคำหยาบ
พูดดีเป็นศรีแก่ปาก เป็นสำนวนที่มีความหมายว่า การพูดจาไพเราะอ่อนหวานย่อมก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับตัวเอง ทำให้ผู้คนรักใคร่เอ็นดู หากแต่ในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนมากเหลือเกินที่ติดพูดคำหยาบเป็นนิสัย เอะอะก็พาสิงสาราสัตว์ออกมาเดินเล่นอยู่เรื่อย แถมบางคนยังมองว่าการพูดคำหยาบเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่พูดเพราะตลอดเวลาต่างหากที่โลกสวยเกินไป
เปลี่ยนนิสัยการพูดใหม่ ⚠️ อย่าลืมว่าคำหยาบเป็นคำที่แสดงถึงความหยาบคาย ไม่สุภาพ ใช้สื่อความหมายในทางไม่ดี แม้ว่าการพูดคำหยาบด้วยความคึกคะนองในกลุ่มเพื่อนจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่การพูดคำหยาบจนเคยชินอาจทำให้เราเผลอนำคำหยาบไปใช้ไม่ถูกกาลเทศะ พูดผิดที่ผิดเวลา เป็นเหตุให้คนไม่ใกล้ชิดสนิทกันวางตัวไม่ถูก หรืออาจทำให้หลายๆ คนเข้าใจเจตนาผิดไป กลายเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่ตั้งใจได้ ฉะนั้น ลองฝึกไม่พูดคำหยาบเท่าที่จะทำได้ก็เข้าท่า
เคล็ดลับการพูดที่ดี ข้อที่ 2 : ไม่วิจารณ์คนอื่น
เรื่องของรสนิยมเป็นเรื่องปัจเจก ซึ่งหมายความว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หรือจะบอกว่าเป็นเรื่องของใครของมันก็คงได้ ในเมื่อเรื่องรสนิยมเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วทำไมหลายคน หรือแม้แต่ตัวเราเองในบางครั้งถึงได้ไปยุ่มย่ามในพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่นล่ะ
เปลี่ยนนิสัยการพูดใหม่ ⚠️ หยุดโฟกัสว่าคนอื่นใส่เสื้อสีอะไร ผิวขาวหรือคล้ำ หรือรสนิยมทางเพศของเขาเป็นเช่นไร เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ลองคิดดูว่าถ้ามีคนมายุ่งวุ่นวายพื้นที่ส่วนตัวของเรา หรือมีคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนตัวของเรา เราจะรู้สึกอย่างไร เราคงรำคาญใจใช่ไหม ดังนั้น เราก็ไม่ควรทำแบบนี้กับใครเช่นกัน เริ่มสร้างมวลรวมที่ดีให้สังคมที่ตัวเราเอง โดยการไม่วิจารณ์ชีวิตคนอื่น แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องปล่อยเบลอทุกเรื่อง ถ้าคนๆ นั้นทำผิด เขาก็ควรได้รับการตักเตือนเช่นกัน
Advertisements
เคล็ดลับการพูดที่ดี ข้อที่ 3 : ไม่พูดเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบ คือ การนำของสองสิ่งขึ้นไปมาเทียบเคียงให้เห็นลักษณะที่คล้ายคลึง หรือเห็นข้อแตกต่างของสองสิ่งนั้น บางทีก็ใช้กับสถานที่ ผู้คน และสัตว์แต่ละชนิดได้ด้วย ข้อดีของการเปรียบเทียบคือ ช่วยให้เราเห็นข้อดีข้อด้อยอย่างชัดเจน ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น เช่น เปรียบเทียบสเปกโทรศัพท์แต่ละรุ่น เปรียบเทียบแคลอรี่อาหาร แต่พอยท์ของการเปรียบเทียบคนคืออะไร?
เปลี่ยนนิสัยการพูดใหม่ ⚠️ ในเมื่อการเปรียบเทียบคนหนึ่งกับอีกคนเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เราทุกคนจึงไม่ควรเปรียบเทียบใครๆ เด็ดขาด ไม่ว่าจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือเปรียบเทียบคนนึงกับอีกคนก็ตาม เพราะอะไรน่ะหรือ คำตอบสุดแสนจะง่าย ก็เพราะมันไม่มีประโยชน์ไงล่ะ ถ้าเราอยากชมหรือติใครสักคน เราชมเขาหรือติเขาโดยตรงได้เลย ไม่จำเป็นต้องเทียบกับใครทั้งสิ้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเอฟเฟกต์จากการเปรียบเทียบของเราจะก่อให้เกิดผลเสียอะไรได้บ้าง
เคล็ดลับการพูดที่ดี ข้อที่ 4 : ไม่พูดตอนควบคุมอารมณ์ไม่ได้
คำว่า ‘ควบคุมอารมณ์ไม่ได้’ นั้น ตีความได้หลายแง่ หมายถึงเวลาที่เราโมโหจัด วีนเหวี่ยงไปทั่วก็ได้ หรือเป็นตอนที่เราโกรธจนไม่พูดอะไรเลยก็ได้ หรือกระทั่งตอนที่น้ำตาไหลพรั่งพรู เพราะมีความสุขเปี่ยมล้นก็ได้เช่นกัน แล้วทำไมการพูดคุยสื่อสารตอนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ถึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำน่ะหรือ นั่นก็เพราะตอนที่อารมณ์เราล้น คำพูดของเรามักจะล้นไปด้วยไงล่ะ
เปลี่ยนนิสัยการพูดใหม่ ⚠️ เริ่มเปลี่ยนนิสัยในการพูดใหม่ด้วยการหลีกเลี่ยงการพูดคุยขณะที่เราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ยิ่งไม่สบอารมณ์ ยิ่งควรปลีกตัวจากผู้อื่นด่วนๆ ต่อจากนั้น ให้หาวิธีจัดการกับสภาวะอารมณ์ของตัวเอง อาจฟังเพลงเบี่ยงเบนความสนใจตัวเอง หรือตกผลึกคนเดียวเงียบๆ จนอารมณ์อยู่ในสภาวะปกติ เมื่อสติสมบูรณ์แล้ว ค่อยไปปรับความเข้าใจก็ไม่สาย
เคล็ดลับการพูดที่ดี ข้อที่ 5 : ไม่กระจายข่าวลือ
เชื่อว่าต้นตอของปัญหาที่มาจากคำพูดหลายๆ ครั้ง มาจากการกระจายข่าวลือปลอม และการซุบซิบนินทาเรื่องไม่มีที่มาที่ไป เพราะหลายคนติดนิสัยชอบเม้าท์ ชอบเล่าเรื่องราวรอบตัวเรื่อยเปื่อย บ้างก็เป็นจริง บ้างก็เสริมเติมแต่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการส่งต่อสารที่ตัวเราเองยังไม่รู้ว่าจริงไหม อาจก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม
เปลี่ยนนิสัยการพูดใหม่ ⚠️ หยุดกระจายข่าวลือ เลิกส่งสารที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ผู้อื่น โดยเฉพาะการพูดในบริบทที่ว่า ‘ไม่รู้เหมือนกัน แต่เขาว่ากันว่า…’ เพื่อเป็นการตัดไฟข่าวลือและ fake news ตั้งแต่ต้นลม ยิ่งเราบอกว่าเราไม่รู้ เราก็ยิ่งไม่ควรส่งสารต่อ เพราะการกระจายข่าวลือที่ไม่รู้ว่าจริงแท้แค่ไหน อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดมหันต์ได้ ถ้าไม่รู้จริง ไม่ต้องพูดดีกว่า
Advertisements