#มันมากับฝน “แมลงก้นกระดก” ตัวจิ๋วพิษร้าย ไม่อยากผิวพองต้องอ่าน!

 

หน้าฝนมาเยือนทีไร เป็นต้องเหนื่อยกับการระแวดระวังภัยจากเหล่าแมลงและสัตว์น้อยใหญ่ที่มาพร้อมกับหน้าฝนทุกครา… วันนี้ UndubZapp ขออาสาพาทุกๆ คนมาทำความรู้จักกับ “แมลงก้นกระดก” อีกหนึ่งวายร้ายหน้าฝนที่ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง เกิดการระคายเคือง และอาจทำให้ปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย พ่อแม่พี่น้องท่านใดที่ยังไม่รู้จักแมลงก้นกระดกและพิษร้ายของแมลงชนิดนี้ ตามเรามาตรวจสอบลักษณะของแมลงก้นกระดก เรียนรู้วิธีป้องกัน-วิธีดูแลตนเองเมื่อถูกพิษแมลงก้นกระดกกันค่ะ

 

ลักษณะของแมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นกระดก (Rove beetles) เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ลำตัวประมาณ 7 – 8 มม. ลักษณะลำตัวเป็นปล้องๆ สีส้ม-ดำ มีส่วนหัวและหางเป็นสีดำ มีส่วนท้องเป็นสีส้ม มักอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อับชื้น เช่น พงหญ้า กองไม้ กองมูลสัตว์ แต่จะชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้านเรือน พบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความชื้นที่เหมาะสมในการแพร่พันธุ์

 

อันตรายของแมลงก้นกระดก

ความอันตรายของแมลงก้นกระดกไม่ได้เกิดจากการกัดหรือต่อย แต่เกิดจากการ “สัมผัส” “ขยี้” “บี้” ตัวแมลง เพราะแมลงก้นกระดกมีสารที่เรียกว่า พีเดอริน (Pederin) ซึ่งเป็นกรดอ่อนอยู่ในเลือดของมัน หากสารนี้โดนผิวหนังจะก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสสารพิษถูกทำลาย ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสารที่โดน

 

Advertisements

อาการป่วยจากพิษของแมลงก้นกระดก

  • อาการผื่นผิวหนังจะไม่เกินทันทีที่สัมผัสกับสาร แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบหลังจากนั้นประมาณ 24 ชั่วโมง
  • ต่อมา จะปวดแสบปวดร้อน พบผื่นแดงที่มีขอบเขตชัดเจน หรือพบรอยไหม้เป็นทางยาวตามรอยที่ปัดแมลง
  • บางรายอาจเกิดผื่นบริเวณซอกพับ มีผื่นตุ่มน้ำพอง หรือตุ่มหนองตามบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นผื่นงูสวัด อย่างไรก็ดี ผื่นทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกัน ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดกจะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทที่ตำแหน่งผื่น ดังเช่นอาการของผื่นงูสวัด
  • แม้อาการป่วยจากพิษของแมลงก้นกระดกจะทำให้ผิวระคายเคือง กระนั้น ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกมักจะตกสะเก็ดและหายได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ อาจทิ้งรอยดำไว้ระยะหนึ่ง แต่จะไม่กลายเป็นแผลเป็น
  • ในรายที่ผื่นกว้าง แพ้พิษรุนแรง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
  • หากพิษของแมลงก้นกระดกเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้

 

วิธีการรักษาหลังสัมผัสแมลงก้นกระดก

  1. หากสัมผัสถูกพิษแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด น้ำเกลือสำหรับล้างแผล หรือน้ำสบู่
  2. รับประทานยาแก้แพ้ ป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้รุนแรง
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่ถูกพิษ เพราะเสี่ยงต่อการลุกลามและติดเชื้อซ้ำ
  4. หากเกิดรอยแดงขึ้น ให้ทายาสเตียรอยด์บริเวณที่เป็น
  5. หากรอยแดงเกิดเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องทายาใด รอยแดงจะหายเองภายใน 2 – 3 วัน
  6. หากเป็นผื่นมากขึ้น หรือเกิดตุ่มน้ำพอง ควรไปพบแพทย์ทันที
  7. ประคบเย็น หรือทาว่านหางจระเข้บริเวณที่สัมผัสโดนแมลง เพื่อลดอาการบวมแดง
  8. หากมีอาการแพ้รุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที

 

วิธีป้องกันแมลงก้นกระดก

  1. ถ้าพบแมลงก้นกระดก ห้ามปัด ขยี้ หรือสัมผัสโดยตรง ควรใช้วิธีเป่าหรือสะบัดให้แมลงหลุดออกไป
  2. รักษาความสะอาดของบ้านเรือนสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้รก เลอะเทอะ เป็นที่หลบซ่อนของแมลง
  3. ปัดที่นอน หมอน มุ้ง และผ้าห่ม ก่อนเข้านอน ป้องกันการสัมผัสแมลงโดยไม่รู้ตัว
  4. ปิดมุ้งลวด หน้าต่าง ประตู และตู้เสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อไม่ให้แมลงเข้ามาได้
  5. เปิดไฟเท่าที่จำเป็น ลดความสว่างของแสงไฟในเวลากลางคืน ป้องกันแมลงมาเล่นไฟเวลาค่ำคืน

 

ที่มา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

Advertisements

Advertisements

Advertisements