การได้งานคือข่าวดีและถ้ายิ่งได้ข้อเสนอดี ๆ ก็จะยิ่งขึ้นไปอีก แต่เดี๋ยวก่อน!! เพราะข้อเสนอที่ดีมาก ๆ จนดีเกินไปนั้น มันอาจจะดีเกินความเป็นจริง! ส่อกลิ่นอายแปลกๆ ไม่ว่าจะบริษัทที่ดูแปลกๆ การสัมภาษณ์ที่ไม่เป็นทางการ สัญญาว่าจ้างคลุมเครือไม่ชัดเจน ขอข้อมูลของคุณอย่างรวดเร็วเกินไป หรือมีชื่อเสียงในทางลบจนลาออกบ่อยๆ และนี่คือ 10 สัญญาณเตือนที่ UndubZapp รวบรวมมาให้แล้วว่า ข้อเสนอที่คุณได้รับนั้นมันอาจจะดีเกินความเป็นจริง เสี่ยงโดนหลอกลวง
10. ความรู้สึกบอกคุณว่ามีบางอย่างไม่เข้าท่า
บางครั้งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจิตใต้สำนึกหรือความรู้สึกลึก ๆ ของเราก็มีความแม่นยำได้อย่างไม่น่าเชื่อ หากคุณรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่าข้อเสนอที่ได้รับอยู่ในขณะนี้มันทำให้รู้สึกแปลก ๆ หรือรู้สึกไม่ชอบมาพากล เราขอแนะนำให้เชื่อความรู้สึกนั้น เพราะบางครั้งความรู้สึกนั้นก็คือสัญชาตญาณการระวังภัยรูปแบบหนึ่ง
9. ต้องจ่ายเพื่อไปต่อ
คุณอาจเจอกับข้อเสนอที่ฟังดูดีมาก ๆ มีสวัสดิการร้อยแปดพันอย่าง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ความดีงามเหล่านั้นแลกมาด้วยการต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินไปก่อน (ด้วยเหตุผลว่าต้องมียอดตั้งหรืออะไรก็แล้วแต่) ให้คุณสงสัยและระวังตัวไว้ก่อนเลยว่าข้อเสนอหลังจากจ่ายเงินไปแล้วนั้นอาจไม่มีจริง
8. ขอข้อมูลส่วนตัวตั้งแต่แรก
การขอข้อมูลส่วนตัวอย่างเลขบัญชีธนาคารหรือเลขประกันสังคม ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในขั้นตอนของการทำสัญญาจ้างงาน แต่มันคือสัญญาณเตือนที่ห้ามมองข้ามหากคุณถูกข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ตั้งแต่ตอนที่คุยข้อเสนอหรือตอนที่ยังไม่ได้รับคุณเข้าทำงานด้วยซ้ำ ให้คุณสันนิษฐานในแง่ร้ายไว้ก่อนเลยว่า นี่มันไม่ใช่เรื่องปกติ! อาจจะมีแนวโน้มเรื่องของการฟอกเงินมาเกี่ยวข้อง
7. มีอัตราการลาออกสูง
แม้ข้อนี้อาจจะเป็นสิ่งที่หาข้อมูลได้ยากอยู่สักหน่อย แต่จริง ๆ แล้วคุณสามารถประเมินได้จากประวัติและประกาศหางานของบริษัท หากบริษัทเพิ่งมาได้ไม่นานมีการประกาศจ้างงานหลายตำแหน่งนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมานานแล้วแต่ยังมีการประกาศรับสมัครงานอยู่เรื่อย ๆ และรับจำนวนมาก ให้คุณคิดไว้ก่อนเลยว่าข้อเสนอที่แสนดีเหล่านั้นอาจมีลับลมคมใน
6. คุณเป็นคนติดตามผลการสมัครอยู่ฝ่ายเดียว
หากในขั้นตอนการสมัครงานคุณเป็นเดียวที่ต้องคอยเช็กและอัปเดตสถานะของการสมัครงาน อย่างเช่น ต้องหาที่อยู่บริษัทเอง ยิ่งทางบริษัทนั้นไม่ได้มีการประกาศหรือมีการแจ้งกระบวนการการคัดเลือกที่เป็นขั้นเป็นตอน ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าบริษัทนี้อาจมีปัญหาภายในหรือมีอะไรไม่ชอบมาพากล
Advertisements
5. ไม่มีการสัมภาษณ์งานแบบเป็นทางการ
การได้รับเชิญให้ไปสัมภาษณ์งานกับทางบริษัท เป็นช่องทางหนึ่งที่คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในที่ทำงาน สไตล์การทำงาน และทัศนคติของพนักงานที่มาสัมภาษณ์ แต่หากไม่มีการติดต่อให้เข้าไปสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ คุณควรตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่าอาจจะมีอะไรสักอย่างภายในองค์กร
4. กระตือรือร้นที่จะจ้างคุณจนเกินไป
โดยปกติของกระบวนการจ้างงานนั้น มักจะมีการดูเชิงจากทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้สมัครและบริษัทที่ต้องการว่าจ้าง ในกรณีที่บริษัทดูกระตือรือร้นเหลือเกินที่จะว่าจ้างคุณจนผิดสังเกต แนะนำให้อ่านสัญญาว่าจ้างงานและรายละเอียดของตำแหน่งงานนั้นให้รอบคอบถี่ถ้วนอีกซักหน่อย ใช้เวลาตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทอีกซักนิดก่อนตัดสินใจก็ยังไม่สาย ถ้าเขาต้องการตัวคุณมากขนาดนั้นก็ต้องรอได้จริงมั้ยคะ?
3. รายละเอียดสำคัญตกหล่น
ในการจ้างงานและสมัครงานนั้น รายละเอียดสำคัญ ๆ คงหนีไม่พ้น หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สวัสดิการต่าง ๆ และรายละเอียดเกี่ยวกับตัวบริษัทว่าทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร เป็นต้น หากรายละเอียดสำคัญเหล่านี้ตกหล่นหรือทางนั้นไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดสำคัญเหล่านั้นกับคุณได้ เราแนะนำให้คุณถอยออกมาทบทวนข้อเสนอนั้นอีกทีจะดีกว่า
2. สัญญาปากเปล่า
หลีกเลี่ยงที่จะเอาตัวเองไปผูกพันกับข้อเสนอที่ไม่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรจะดีกว่า หากข้อเสนอแสนดีเหล่านั้นมาในรูปแบบของคำพูดแต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาหรือลายลักษณ์อักษรใด ๆ ให้คิดไว้เลยว่าข้อเสนอเหล่านั้นมันไม่มีอยู่จริง
1. เสนอเงินเดือนสูง (เกินจริงไปม๊าก)
นี่คือหนึ่งในสัญญาณเตือนที่ชัดที่สุด หากทางบริษัทเสนอเงินเดือนที่สูงเกินกว่าที่คุณขอไปมาก หรือเสนอสูงเกินกว่าความเป็นจริงที่ตำแหน่งนั้นๆ ควรจะได้รับ ให้คุณคอยระวังไว้เลยว่าน่าจะมีอะไรไม่ปกติมาก ๆ เกี่ยวกับข้อเสนอที่คุณกำลังได้รับ ทั้งข้อสันนิษฐานที่ว่าตำแหน่งนี้น่าจะมีอะไรแน่ ๆ เพราะเงินเดือนสูงขนาดนี้ก็ยังไม่มีใครเอา ถ้าไม่ใช่บริษัทใหญ่มีชื่อเสียงจริงๆ ที่การันตีเงินเดือนได้ แนะนำว่าอย่าเสี่ยงเลยค่ะ
SOURCE : businessinsider
Advertisements