เคล็ดลับ ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิต ลดความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง”

เมื่อพูดถึง “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ “Stroke” ขึ้นมา หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น  แต่รู้หรือไม่ว่า ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการนี้ได้ในทุกวัย

 

“ปาร์ตี้บริษัทคืนนี้ ไม่เมายับ ไม่กลับบ้าน”

“บุฟเฟต์เจ้านี้อร่อยมาก ต้องเตรียมท้องไว้รอจัดหนักแล้ว”

“เครียดจัง ไตรมาสนี้ต้องทำเป้าให้ถึงที่ตั้งไว้ ไม่งั้นปีนี้อดโบนัสแน่ ๆ”

“วันนี้อากาศดีน่านอน เรื่องไปวิ่ง ออกกำลังกาย ขอเว้นไว้ก่อนก็แล้วกัน”

“ซีรีส์มันสนุกมาก เลยดูไม่หยุดจนถึงเช้าเลย”

เพราะทุกสเต็ปของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะการกิน การนอน การออกกำลัง และการรักษาสุขภาพจิตที่ดี นำมาสู่สุขภาพกายใจที่ดี และแข็งแรง แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน ทำให้ความเรียบง่ายเหล่านี้กลายเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด เพราะสิ่งรอบข้างเย้ายวนใจให้เราอยากจะตามใจตัวเองบ้าง เมื่อตามใจตัวเองมาก จึงกลายเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำจนพาร่างกายไปสู่จุดที่มีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคหลอดเลือดสมองหรือ สโตรค (stroke)

จากปรากฏการณ์ของโรคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นมหันตภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่คิด จากสถิติพบว่าประชากรโลก 1 ใน 4 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ข้อมูลจากองค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี

 

แล้วทำไม โรคหลอดเลือดสมองใกล้ตัว น่ากลัวกว่าที่คิด?

มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่เซลล์สมองถูกทำลาย มีสาเหตุจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือ แตก ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจน และสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง หรือมีก้อนเลือดไปกดเนื้อสมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
อาการของโรคนั้นจะเกิดขึ้นในแบบ “ฉับพลัน” โดยเป็นอาการที่สมองทำงานผิดปกติไป โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ “พูดลำบาก” คือ การพูดผิดปกติ  ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือพูดไม่รู้เรื่อง “ปากตก” คือ มุมปากข้างใดข้างหนึ่งตกลง เมื่อยิ้มยิงฟันแล้วพบว่าปากเบี้ยว มุมปากสองข้างไม่เท่ากัน และ “ยกไม่ขึ้น” คือ แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น

นอกจากนี้ยังมีอาการผิดปกติอื่นๆที่พบได้แก่ อาการตามืดทันที มองเห็นภาพซ้อน ชาครึ่งซีก เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด  ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพร้อมกัน หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโดยด่วน เนื่องจากโรคนี้หากได้รับการรักษาอย่างทันเวลาก็จะมีโอกาสกลับคืนมาเป็นปกติได้

 

ไม่ใช่แค่เพียงในเรื่องของสุขภาพ โรคหลอดเลือดสมองนั้นยังส่งกระทบกับเศรษฐกิจอีกด้วย โดยศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลของสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย ว่า

Advertisements

 

“ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2556 – 2560 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  ในปี 2560 พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากกว่า 300,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หากเป็นการรักษาในระยะสั้น คือ เมื่อเกิดอาการแล้วได้รับการรักษาทันที มีโอกาสจะดีขึ้นได้มาก อาจมีค่าใช้จ่ายบ้าง แต่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา

แต่หากมารับการรักษาล่าช้า หรือโรคเป็นมาก มีความพิการเกิดขึ้น ทำให้ต้องรับการรักษาระยะยาว และได้รับการดูแลตลอดชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายมากถึงปีละ 2-3 ล้านบาทต่อคน อีกทั้งเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำ ผู้ป่วยจะต้องดูแลสุขภาพให้ดี และรับประทานยาต่อเนื่องสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ”

 

ถึงแม้โรคนี้จะพบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้สูงอายุ แต่ใช่ว่าต้องมี “อายุมาก” เท่านั้นที่จะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จากการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงสําคัญที่ทำให้เกิดโรค นอกจากอายุแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวอื่นของผู้ป่วยและพฤติกรรมต่างๆ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก

 

จากการศึกษายังพบว่าในกลุ่มคนอายุน้อย มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การใช้สารเสพติดเช่น ยาบ้า ยาไอซ์ โคเคน รวมทั้งการได้รับบาดเจ็บบริเวณคอหรือศีรษะ

อย่างที่กล่าวมา โรคนี้อาจจะดูน่ากลัว แต่ทุกคนก็สามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตนเอง ให้หันมาใส่ใจในเรื่อง สุขภาพมากขึ้น มีการศึกษาพบว่าการดูแลตนเองให้ดี รวมทั้งรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ถึงร้อยละ 90 ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นดูและสุขภาพ และป้องกันตัวเองอย่างง่ายๆ ดังนี้

 

  1. ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีปริมาณผักผลไม้ครึ่งหนึ่งของอาหาร เลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียม และไขมันอิ่มตัวสูง ออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 30 – 40 นาที งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ คลายเครียดสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนัก โดยสังเกตจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  2. ตรวจสุขภาพประจำปี ควรรับการตรวจวัดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด เพื่อจะได้ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันแอลดีแอล คอเลสเตอรอลและระดับน้ําตาลในเลือด เพื่อป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
  3. ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และผ่านการรักษาจนพ้นวิกฤติแล้วควร ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาและหยุดยาเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง
  4. เมื่อมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นแล้วรีบไปพบแพทย์ด่วน เนื่องจากโรคนี้ เวลาเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นหากมีอาการ พูดลำบาก ปากตก หรือยกไม่ขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา และลดความเสี่ยงต่อการพิการและเสียชีวิตได้ ไม่ควรรอดูอาการ โดยสามารถโทรสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ชีวิตที่ไม่หย่อน ไม่ตึงจนเกินไป จะช่วยให้เราสุขภาพแข็งแรงเพื่อดูแลตัวเองและคนที่เรารักไปนาน ๆ

 

ขอบคุณที่มาจาก : สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย  

Advertisements

Advertisements

Advertisements