ถ้าอยากจะดูละครพีเรียดให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องรู้เกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงนั้นเสียก่อน แบบนี้จะยิ่งทำให้ละครสนุกมากขึ้นค่ะ วันนี้ทีม Undubzapp มี 3 เรื่องน่ารู้ ดูละครสนุก จากละคร “บุพเพสันนิวาส” มาฝากค่ะ
1. “ออเจ้า” ใช้กับคนที่สนิทกันหรือใช้เรียกผู้ที่ด้อยกว่า?
มาที่เรื่องแรกกันก่อน จากละคร “บุพเพสันนิวาส” หลายคนคงจะเคยได้ยินสรรพนามบุรุษที่ 2 คำว่า “ออเจ้า” เป็นครั้งแรก จากหลักฐานที่พบมาจากจดหมายเหตุลาลูแบร์จากประเทศฝรั่งเศสนั่นคือคำว่า “Otchaou” ซึ่งจะใช้เรียกผู้ที่ด้อยกว่า หรือไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่ค่อยจะสนิท ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่เหมือนกับในละครน่ะซี แต่รู้หรือไม่ว่าในละครนั้นจะตรงกับข้อมูลของไทยค่ะ เพราะจากหลักฐานของไทยบอกว่า ใช้กับคนที่สนิทกัน และใช้ในเชิงสุภาพอีกด้วยค่ะ ในวรรณคดีโบราณเราก็ยังพบคำว่า “ออเจ้า” ในมหาชาติร่ายยาว ชูชกใช้คำว่า “ออเจ้า” กับนางอมิตดา ส่วนนางอมิตดานั้นเรียกชูชกว่า “ออตา” หรือหนังสือแปลรุ่นเก่าอย่างในคัมภีร์พระคฤษวงษ์ โดยมัดฑัย (พระวรสารมัทธิว) ฉบับภาษาสยามปี 2383 พบว่า พระเยซูก็เรียกปุโรหิตทั้งหลายว่า “ออเจ้า” ด้วยเช่นกัน
2. ประตูอาคมยันต์แปดทิศมีอยู่จริงหรือ?
Advertisements
มาถึงเรื่องที่สอง มีฉากที่น่าประทับใจและมหัศจรรย์จากละคร “บุพเพสันนิวาส” ฉากหนึ่งคือ ฉากที่ “การะเกด” โดนดูดทะลุผ่านเข้าประตูที่ร่ายอาคมกำกับเอาไว้ ทำให้เจ้าจ้อยตกอกตกใจไม่น้อยเพราะไม่เคยมีผู้ใดผ่านเข้าไปได้โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน พอพี่ผินพี่แย้มรู้เรื่องก็เล่นเอาน้ำหูน้ำตาร่วงเป็นห่วงแม่หญิงการะเกดว่าจะถึงแก่ชีวิต แต่พวกเรารู้หรือไม่คะ ว่ายันต์ที่เห็นนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่ CG เล่นๆ ยันต์นั้นเป็นยันต์โบราณที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเรียกว่า “ยันต์แปดทิศ” หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อว่า “ยันต์อิติปิโสแปดทิศ” สามารถคุ้มครองภยันตรายรอบด้านครบทั้งแปดทิศ ป้องกันสัตว์ร้ายและภูตผีปีศาจ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณทางด้านเมตตา อยู่ยงคงกระพัน แรกเริ่มนิยมทำเป็นผ้ายันต์ แต่ต่อมาจึงได้มีการสักตามร่างกายค่ะ โดยเฉพาะช่วงมีสงครามจะนิยมสักตามร่างกายกันมาก จากบันทึกของพระยากสิการบัญชา ท่านได้กล่าวว่า ตระกูลของท่านเป็นนักรบมาหลายชั่วคน และพระคาถานี้ได้สั่งสอนสืบทอดกันมาในตระกูลของท่านค่ะ
3. ถูกด่า “วาจาพิกลพิการฟังไม่รู้ความ” เจ็บดีไหมเจ้าค่ะ แม่นาย?
มาถึงเรื่องสุดท้าย หลายๆ คนคงจะชอบที่พี่หมื่นตำหนิการะเกด “วาจาพิกลพิการฟังไม่รู้ความ” อันนี้ก็ต้องขยายค่ะ เพราะภาษาสมัยโน้นกับสมัยนี้มีความต่างกันอยู่หลายจุด คำบางคำเพิ่งจะถือกำเกิดมาในยุคหลัง แต่จริงๆ ก็พอจะเดาได้ พวกเขาถึงคุยกันรู้เรื่อง แต่พี่หมื่นก็แอบตำหนิการะเกดอยู่เสมอ เช่น คำว่า “รับประทาน” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จะใช้คำว่า “รับพระทาน” หลักฐานเรื่องนี้ปรากฏในบันทึกรายวันของพระยาโกษาปาน ราชทูตแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยหลุยส์ที่ 14 ได้บันทึกขณะที่พำนักอยู่ในเมืองแบรสต์ค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ 3 เรื่องน่ารู้ ดูละครสนุก จากละคร “บุพเพสันนิวาส” รู้แบบนี้คงจะทำให้ลุ้นพี่หมื่นกับการะเกดสนุกขึ้นเป็นกอง ดูละครแล้วอย่าลืมย้อนดูประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยนะคะ
Advertisements