รู้แล้ว…อินละครมากขึ้น!! 3 เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส”

ถ้าอยากจะดูละครพีเรียดให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องรู้เกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงนั้นเสียก่อน แบบนี้จะยิ่งทำให้ละครสนุกมากขึ้นค่ะ วันนี้ทีม Undubzapp มี 3 เรื่องน่ารู้ ดูละครสนุก จากละคร “บุพเพสันนิวาส” มาฝากค่ะ

 

1. “ออเจ้า” ใช้กับคนที่สนิทกันหรือใช้เรียกผู้ที่ด้อยกว่า?

© รูปต้นฉบับ: campus-star

มาที่เรื่องแรกกันก่อน จากละคร “บุพเพสันนิวาส” หลายคนคงจะเคยได้ยินสรรพนามบุรุษที่ 2 คำว่า “ออเจ้า” เป็นครั้งแรก จากหลักฐานที่พบมาจากจดหมายเหตุลาลูแบร์จากประเทศฝรั่งเศสนั่นคือคำว่า “Otchaou” ซึ่งจะใช้เรียกผู้ที่ด้อยกว่า หรือไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่ค่อยจะสนิท ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่เหมือนกับในละครน่ะซี แต่รู้หรือไม่ว่าในละครนั้นจะตรงกับข้อมูลของไทยค่ะ เพราะจากหลักฐานของไทยบอกว่า ใช้กับคนที่สนิทกัน และใช้ในเชิงสุภาพอีกด้วยค่ะ ในวรรณคดีโบราณเราก็ยังพบคำว่า “ออเจ้า” ในมหาชาติร่ายยาว ชูชกใช้คำว่า “ออเจ้า” กับนางอมิตดา ส่วนนางอมิตดานั้นเรียกชูชกว่า “ออตา” หรือหนังสือแปลรุ่นเก่าอย่างในคัมภีร์พระคฤษวงษ์ โดยมัดฑัย (พระวรสารมัทธิว) ฉบับภาษาสยามปี 2383 พบว่า พระเยซูก็เรียกปุโรหิตทั้งหลายว่า “ออเจ้า” ด้วยเช่นกัน

 

2. ประตูอาคมยันต์แปดทิศมีอยู่จริงหรือ?

© รูปต้นฉบับ: kapook

Advertisements

มาถึงเรื่องที่สอง มีฉากที่น่าประทับใจและมหัศจรรย์จากละคร “บุพเพสันนิวาส” ฉากหนึ่งคือ ฉากที่ “การะเกด” โดนดูดทะลุผ่านเข้าประตูที่ร่ายอาคมกำกับเอาไว้ ทำให้เจ้าจ้อยตกอกตกใจไม่น้อยเพราะไม่เคยมีผู้ใดผ่านเข้าไปได้โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน พอพี่ผินพี่แย้มรู้เรื่องก็เล่นเอาน้ำหูน้ำตาร่วงเป็นห่วงแม่หญิงการะเกดว่าจะถึงแก่ชีวิต แต่พวกเรารู้หรือไม่คะ ว่ายันต์ที่เห็นนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่ CG เล่นๆ ยันต์นั้นเป็นยันต์โบราณที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเรียกว่า “ยันต์แปดทิศ” หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อว่า “ยันต์อิติปิโสแปดทิศ” สามารถคุ้มครองภยันตรายรอบด้านครบทั้งแปดทิศ ป้องกันสัตว์ร้ายและภูตผีปีศาจ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณทางด้านเมตตา อยู่ยงคงกระพัน แรกเริ่มนิยมทำเป็นผ้ายันต์ แต่ต่อมาจึงได้มีการสักตามร่างกายค่ะ โดยเฉพาะช่วงมีสงครามจะนิยมสักตามร่างกายกันมาก จากบันทึกของพระยากสิการบัญชา ท่านได้กล่าวว่า ตระกูลของท่านเป็นนักรบมาหลายชั่วคน และพระคาถานี้ได้สั่งสอนสืบทอดกันมาในตระกูลของท่านค่ะ

 

3. ถูกด่า “วาจาพิกลพิการฟังไม่รู้ความ” เจ็บดีไหมเจ้าค่ะ แม่นาย?

© รูปต้นฉบับ: mgronline

มาถึงเรื่องสุดท้าย หลายๆ คนคงจะชอบที่พี่หมื่นตำหนิการะเกด “วาจาพิกลพิการฟังไม่รู้ความ” อันนี้ก็ต้องขยายค่ะ เพราะภาษาสมัยโน้นกับสมัยนี้มีความต่างกันอยู่หลายจุด คำบางคำเพิ่งจะถือกำเกิดมาในยุคหลัง แต่จริงๆ ก็พอจะเดาได้ พวกเขาถึงคุยกันรู้เรื่อง แต่พี่หมื่นก็แอบตำหนิการะเกดอยู่เสมอ เช่น คำว่า “รับประทาน” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จะใช้คำว่า “รับพระทาน” หลักฐานเรื่องนี้ปรากฏในบันทึกรายวันของพระยาโกษาปาน ราชทูตแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยหลุยส์ที่ 14 ได้บันทึกขณะที่พำนักอยู่ในเมืองแบรสต์ค่ะ

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ 3 เรื่องน่ารู้ ดูละครสนุก จากละคร “บุพเพสันนิวาส” รู้แบบนี้คงจะทำให้ลุ้นพี่หมื่นกับการะเกดสนุกขึ้นเป็นกอง ดูละครแล้วอย่าลืมย้อนดูประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยนะคะ

Advertisements

Advertisements

Advertisements