ปัญหา “เพื่อนร่วมงานชอบแขวะ” หรือ “เพื่อนในกลุ่มชอบแขวะ” นั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวาระแห่งชีวิตของใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนช่วงวัยรุ่น วัยทำงาน หรือกระทั่งวัยเกษียณก็ตาม ทุกๆ คนล้วนแล้วแต่มีโอกาสประสบพบเจอกับคำจิกกัดได้ด้วยกันทั้งนั้น แม้หลายๆ คนจะไม่เข้าใจเลยว่าอีกฝ่ายแขวะตนเองด้วยเหตุผลอันใด เพราะบางทีต่อให้อยู่เฉยๆ ก็ยังถูกแซะได้ แต่ในเมื่อเราไม่มีทางเก็ทฟีลลิ่งอีกฝ่ายได้ถ่องแท้ เราก็ควรปรับโฟกัสใหม่ให้มาอยู่ที่ตัวเรา หาแนวคิดรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสมจะเข้าทีกว่า ส่วนแนวคิดที่ว่าจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ!
1.ทุกสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง
เอาเข้าจริงๆ ก็คงไม่มีใครในโลกนี้อยากได้ยินคำแขวะ แซะ จิกกัดเล่นๆ หรอก แต่ในเมื่อเรามิอาจเข้าใจได้ว่าคนที่พูดแขวะใส่เรานั้น เขาทำไปด้วยเหตุผลอันใด และบางทีก็อาจไม่มีวันเข้าใจได้ในชาตินี้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมัวคิดหาเหตุผลให้เสียเวลา แล้วหันมาใช้แนวคิด “ทุกสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง” ดูดีกว่า คิดเสียว่า สรรพสิ่งบนโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เองก็เช่นกัน วันนี้เขาอาจจะแซะเราเอาสนุก วันพรุ่งนี้เขาอาจจะหันไปแซะเรื่องตึกรามบ้านช่อง แล้ววันต่อไปเขาก็อาจจะหยุดแซะทุกสิ่งขึ้นมาเฉยๆ ในเมื่อทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป การที่เรายึดฟีลลิ่ง ‘ทำไมต้องมาแขวะเราด้วย’ เอาไว้ ก็เท่ากับว่าเรานั่นแหละที่กำลังฝืนธรรมชาติอยู่ ฉะนั้น ยามใดที่รู้สึกเสียใจเพราะคำจิกกัดขึ้นมา พยายามอย่ายึดติดกับคำพูดพวกนั้น เรียนรู้ที่จะปล่อยวางให้ได้
©รูปต้นฉบับ: unsplash.com
2.มองกันคนละมุม
บางครั้งบางทีคำแขวะก็เกิดขึ้นเพราะการมีมุมมองที่แตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลเป็นของตนเอง ทำให้เกิดความไม่ลงรอย เป็นที่มาของการอยากแซะกันขึ้น ลองใช้แนวคิด “มองกันคนละมุม” เพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเขาดูก็ไม่เสียหาย อาจมีการกระทำหรือคำพูดบางอย่างของเราที่ทำให้เขาเข้าใจไปคนละเรื่อง หรือสำหรับบางเรื่องอาจไม่มีคนผิดอยู่จริง แค่แต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกันไปก็เท่านั้น ถ้ามีโอกาสอาจลองพูดคุยกับเขาเพื่อปรับความเข้าใจกันดูก็ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่สักหน่อย แต่เชื่อไหมว่ามีหลายกรณีเชียวแหละที่คนไม่ชอบหน้ากันมานั่งจับเข่าคุยกัน เถียงกันไปเถียงกันมายกหนึ่ง สุดท้ายกลายมาเป็นเพื่อนซี้กันเฉย
©รูปต้นฉบับ: unsplash.com
3.อุปสรรคคือแรงผลักดันชีวิต
การทำงานทุกชนิดย่อมมีอุปสรรค ไม่ว่าเราจะโอเคกับมันหรือไม่ แต่เราก็ต้องหาทางรับมือกับมันให้ได้ เพราะสิ่งที่นายจ้างสนใจคือการทำงานให้ได้งาน ไม่ใช่เรื่องสงครามการเมืองในบริษัท หากคำแขวะเป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจในการทำงานของเรายิ่งนัก ลองปรับมาใช้แนวคิด “อุปสรรคคือแรงผลักดันชีวิต” ก็เข้าท่า จัดโซนคำแซะทุกคำที่เข้ามาให้อยู่ในหมวดหมู่อุปสรรคของการทำงานไปเลย แล้วหยิบยกอุปสรรคพวกนี้มาใช้เป็นแรงผลักดันชีวิตยามที่รู้สึกหมดไฟในการทำงานก็ได้ เช่น วันนี้เราอาจถูกแขวะว่าทำงานช้า ทั้งๆ ที่ความจริงเราก็ทำงานได้ดีตามปกติ เอาแรงผลักดันตรงนี้มาทำงานให้เป๊ะปังกว่าเดิม ชนิดที่ว่าหัวหน้าเห็นแล้วแฮปปี้ ต้องฉีกยิ้มกันไปเลยก็ได้ หรือถ้าเขาแขวะว่าทำงานบกพร่องตรงไหน ก็หาวิธีอุดรูรั่วนั้นเสีย คิดเสียว่าเป็นแรงจูงใจในการทำงานให้รอบคอบอีกทาง
Advertisements
©รูปต้นฉบับ: unsplash.com
4.วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย ต่างสอนบทเรียนชีวิตให้เรากันคนละอย่างสองอย่าง บทเรียนจากประสบการณ์นั้นมีค่า เพราะเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากตำราเล่มไหน แต่เป็นสิ่งที่เราต้องประสบพบเจอด้วยตัวเอง เพื่อให้ตัวเราเข้าใจในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ยามใดที่คำแขวะทำให้ท้อแท้ ลองใช้แนวคิด “วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม” แล้วมองย้อนกลับไปในวัยเยาว์ดูสิ สมัยเด็กเราเคยวิ่งเล่นหกล้มมาไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง แรกๆ เราอาจเจ็บจนร้องไห้แงๆ แต่พอหกล้มบ่อยๆ เข้า เราก็ไม่ถือสากับบาดแผลฟกช้ำตามร่างกายอีกต่อไป ไม่ต่างอะไรกับคำแขวะทั้งหลาย วันนี้เราฟังแล้วอาจเจ็บใจ ทำอะไรไม่ถูก แต่นานวันไปเราจะมีภูมิต้านทานมากขึ้น จนวันนึงเราอาจชินชากับคำพูดพวกนั้น ไม่ให้ค่ากับมันอีกต่อไป เมื่อปรับใจให้สู้กับคำจิกกัดได้แล้ว เราจะเริ่มรู้สึกว่า เสียดายเวลาที่มัวเอาไปขบคิดเรื่องไร้สาระจริงๆ รู้อย่างนี้น่าจะเอาเวลาไปหาความสุขใส่ตัวดีกว่า
©รูปต้นฉบับ: unsplash.com
บทความเพื่อชีวิตในที่ทำงานอย่างแฮปปี้ มีความสุข
ไม่พลาดบทความเพื่อชีวิตที่เดินไปอย่างมีความสุขได้ทุกวัน กดติดตาม ADD Line @UndubZapp
Advertisements