ละครดีม้ามืด! 5 ความกาหล “กาหลมหรทึก” แฟนละครสืบสวน ปริศนาต้องดู!!

กระแสละครพีเรียดช่วงนี้เขามาจริงๆ ค่ะ ฝั่งช่องสามก็ส่งเรื่องบุพเพสันนิวาสครองไทม์ไลน์แทบทุกสื่อโซเชียล สร้างวลีเด็ด ‘ออเจ้า’ ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ด้านช่องวันก็ไม่น้อยหน้า ส่งละครสืบสวนสอบสวน พล็อตสุดแหวกแนว  อย่าง ‘กาหลมหรทึก (กา-หน-มะ-หอ-ระ-ทึก)’ ตรึงใจคนดูไว้อย่างอยู่หมัด และเมื่อเป็นที่สนใจขนาดนี้ แน่นอนค่ะที่ทุกคนจะไปหาข้อมูลของละครเรื่องนี้เพิ่มขึ้น และเพื่อไม่ให้ทุกคนต้องเหนื่อยจนเกินไป วันนี้ทีมงานได้รวบรวมมาให้อ่านเรียบร้อยแล้ว

 

1. รู้หรือไม่ ละครเรื่องนี้สร้างมาจากนิยาย

© รูปต้นฉบับ: goodreads

เขียนโดยปราบต์ หรือ ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ทั้งนายอินทร์อะวอร์ด หมวดนวนิยายยอดเยี่ยม ประจำปี 2557, รางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2558, รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด รองชนะเลิศอันดับ 2 ปี 2558 และได้รับการเข้าชิงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนในปี 2558! ฟังขนาดนี้แล้ว ก็รู้เลยว่าละครเรื่องนี้จะต้องไม่ธรรมดา เพราะมีรางวัลการันตีมาแล้วมากมาย

 

2. นัยยะแฝงในชื่อเรื่อง

เชื่อว่าหลายคนอาจจะงงว่าชื่อเรื่องแปลว่าอะไร เกี่ยวอะไรกับการสืบสวน ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวโยงกันเลยสักนิด แต่ความจริงแล้วชื่อนี้มีความหมายแฝงอยู่ค่ะ คำว่า ‘กาหล’ หมายถึง ความโกลาหล ส่วนคำว่า ‘มหรทึก’ หมายถึง กลองมโหระทึก เมื่อนำมารวมกันจะมีความหมายโดยตรงว่า ‘เสียงกลองที่ดังอึกทึกโกลาหล’ และมีความนัยว่า ‘เรื่องวุ่นวายที่อึกทึกครึกโครมและชวนหวาดผวายิ่ง’ เมื่อย้อนกลับไปดูเรื่องราวปริศนาฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่องแล้ว ก็สมเหตุสมผลมากทีเดียวที่จะใช้ชื่อนี้

 

3. เกือบได้ชื่อ ‘รอระยำโยงเยง’

ด้วยความที่ละครเรื่องนี้สร้างมาจากนิยาย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับโคลงสี่สุภาพ นักเขียนเลยพยายามหาชื่อเรื่องจากคำกลอน หนึ่งในลิสต์ที่เจ้าตัวถูกใจคือบทนี้

โพยมมาศมืดมัวดาว    เดือนดับ

เวรวิบัติใดจุง             จากเจ้า

รอระยำโยงเยง         แย่งร้าง

Advertisements

เวรานุเวรเวียน         บำราศ

จักนิราทุกข์เท้า      ตราบสิ้นกรรมเรียม

ฯลฯ

แต่พอลองคิดถึงตอนคนพูดถึงกัน คงดูประหลาดและตลกน่าดู ชื่อนี้เลยเป็นอันตกไป (ต้องขอบคุณคุณนักเขียน ไม่อย่างนั้นเราอาจได้พูดว่า ‘เธอๆ คืนนี้อย่าลืมดูเรื่องรอระยำโยงเยงนะ สนุกมาก’)

 

4. ชื่อที่แท้จริงของกาหลมหรทึก

© รูปต้นฉบับ: banlakorn

ตามจริงแล้ว ชื่อเรื่องที่นักเขียนตั้งใจตั้งแต่แรกคือ ‘กาหลหรทึก’ แต่เจ้าตัวดันจำผิดเป็น ‘กาหลมหรทึก’ รู้ตัวอีกทีก็เมื่อเขียนนิยายใกล้จะจบแล้ว โชคดีที่ความหมายของคำว่า หรทึก กับ มหรทึก นั้นเหมือนกัน เลยไม่เกิดปัญหา และชื่อใหม่นี้ ยังเพิ่มน้ำหนักของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นได้มากกว่าอีกด้วย มหรทึก กับหรทึก ฟังดูแล้ว มหรทึกดูยิ่งใหญ่กว่า

 

5. สถานที่ในละครมีจริง

ไม่ใช่ว่าเป็นที่เกิดเหตุจริงๆนะคะ แค่สถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในละคร เป็นสถานที่จริง ไม่ใช่จินตนาการขึ้นมาจากมโนภาพของนักเขียน ใครที่อินกับละครเรื่องนี้ ลองไปตามถ่ายรูปกันได้ มีให้ไปตามอยู่หลายที่เลย ไม่ว่าจะตรอกศาลาต้นจันทน์ ย่านวัดระฆัง ที่อยู่ของนางเรือนในเรื่อง (จุดเกิดเหตุคดีของเด็กหญิงวาด)  กุฎิคณะ 11 วัดประยุรวงศาวาส ที่เกิดเหตุคดีของพระมหาสุชีพ  ย่านเยาวราช สะพานภาณุพันธ์ ที่เกิดเหตุคดีของนายลุ ฯลฯ

ละครเรื่องนี้มีที่มาที่ไปตั้งแต่ชื่อเรื่อง จนไปถึงสถานที่เกิดเหตุ ลึกซึ้งเหมือนกับปมปริศนาในเรื่อง ใครที่เคยชอบละครแนวสืบสวนสอบสวน อยากท้าให้พิสูจน์ความสนุกของเรื่องนี้ ไม่แน่ว่าเมื่อคุณดูละครหรืออ่านนิยายจนจบแล้ว คุณอาจยกเรื่องนี้ให้กลายเป็นผลงานที่หนึ่งในใจเลยก็ได้

 

ที่มา : amarinbooks

Advertisements

Advertisements

Advertisements