โรคภัยในช่วงหน้าร้อน ที่หลายคนมักละเลยที่จะดูแลสุขภาพ หารู้ไม่ว่าอากาศร้อนๆ นี่แหละ แหล่งการเจริญเติบโตของสารพัดเชื้อโรค ที่เจือปนในอาหารและน้ำดื่ม ทั้งโรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง โรคฮีทสโตรก นี่ยังไม่นับโรคที่มาจากจาก “ยุง” อีกนะเนี่ย แต่หายห่วงเพราะบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ 5 โรคร้าย ที่มากับอากาศร้อน พร้อมวิธีรักษาสุขภาพง่ายๆ
1.โรคระบบทางเดินอาหาร
ในที่นี้รวมทั้งโรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ที่เกี่ยวกับการกินอาหารที่ไม่สะอาดมากพอ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง การถ่ายอุจจาระผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน อาจมีไข้ในระยะเบื้องต้น ส่งผลให้เกิดการขาดน้ำและร่างกายอ่อนแอได้ ถ้าไม่รีบดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย
วิธีดูแลรักษา
- ทานอาหารที่สะอาดอยู่เสมอ ปรุงสุกใหม่ๆ ให้ร้อน อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นจนเกินไป และงดอาหารประเภทกึ่งสุกกึ่งดิบไปก่อนค่ะ
- ถ้าเริ่มมีอาการ ให้ดื่มน้ำอุ่นสะอาดให้มากๆ หรือ ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการเสียน้ำ กินอาหารอ่อน รสจืด พยายามกินครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
- ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้ท้องเสียรับประทานเอง ให้แพทย์วินิจฉัยให้ดีกว่าค่ะ
CR : thehealthsite
2.โรคไข้หวัดใหญ่
เรื่องจริงค่ะ หน้าร้อนคนเราก็เป็นหวัดได้ จากสถิติปี 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในหน้าร้อนสูงถึง 30,000 กว่าราย เสียชีวิต 2 ราย (ข้อมูลจาก Thairath) อาการคือเริ่มมีไข้สูง ปวดร่างกาย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอคัดจมูก บางรายมีคลื่นไส้ อาเจียน ถ้าไม่รีบดูแลรักษาอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หอบ ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
วิธีดูแลรักษา
- รักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ อย่าเย็นจัด ร้อนจัดเกินไป ทานอาหารปรุงสุกร้อนสะอาด ล้างมือบ่อยๆ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หากเริ่มมีไข้ น้ำมูกไหล ให้นอนพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี อย่าอาบน้ำให้เช็ดตัวแทน รับประทานอาหารอ่อนเช่น น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้
- สวมหน้ากากป้องกันอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น
- ถ้า 2 วันอาการไม่ดีขึ้นเลย ให้รีบพบแพทย์ เพราะถือว่าอาการอันตรายมากแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หยุดทำงานดีกว่า เพื่อความปลอดภัยนะคะ
3.โรคไข้เลือดออก
เข้าหน้าร้อนยุงชุมหิวเลือดสุดๆ พบผู้ป่วยในปี 2559 ถึง 13,000 กว่าราย เสียชีวิตถึง 8 ราย พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการจะมีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน มีจุดเลือดออกมาผิวหนัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดจุกแน่นท้อง เบื่ออาหาร และช่วงไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารไม่ลง อาจเข้าสู่สภาวะช็อก ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อรักษาโดยด่วน ป้องกันการเสียชีวิต
Advertisements
วิธีดูแลรักษา
- โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดคือกำจัดแหล่งเพาะยุงลายตามแหล่งน้ำขัง เช่น โอ่งเก็บน้ำ คอห่าน ซิงค์น้ำ อ่างล้างมือ แต่งตัวให้มิดชิดป้องกันยุงลายหรือทายากันยุงก็ได้ค่ะ
- ถ้าพบว่ามีไข้สูง แล้วมีจุดเลือดแดงๆ ตามตัว ให้พบแพทย์ดีกว่าค่ะ เพราะเชื้อไข้เลือดออกจะรุนแรงเป็นพิเศษในช่วงหน้าร้อน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น เลือดเลี้ยงหัวใจไม่ทัน หัวใจวายเฉียบพลัน อย่าประมาทเด็ดขาดนะคะ เพราะอันตรายถึงชีวิตง่ายๆ เลยทีเดียว
4.โรคลมแดด (ฮีทสโตรก)
อาการเป็นลมจากอากาศที่ร้อนจัด ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน บวกกับสภาวะขาดน้ำหล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด วิงเวียน เพ้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักถึงขั้นช็อกก็มี หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างท่วงทีอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
วิธีดูแลรักษา
- วิธีดูแลอาจไม่ยาก แต่หลายคนมักละเลย คือควรดื่มน้ำให้มากๆ และบ่อยๆ ในช่วงหน้าร้อน และใส่เสื้อผ้าสีอ่อนที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณแดดที่จัดเกินไป
- หากเกิดอาหารให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณ ใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน ใช้น้ำเย็นราดลงบนตัว
- ถ้ายังอาการไม่คงที่ดี ให้รีบพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
5.โรคกลัวน้ำหรือพิษสุนัขบ้า
โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการโดนสุนัขกัดเท่านั้น แต่พบได้ทั้งแมว กระรอก ลิง หรือสัตว์ต่างที่ป่วยจากการสัมผัสน้ำลาย เชื้อไวรัส เชื้อไวรัสก่อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายคน โดยการถูกกัด หรือเลียบริเวณบาดแผล หรือผ่านเข้าทางตา ปาก จมูก ใครเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ต้องระวังเป็นพิเศษหรือควรพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อความปลอดภัยนะคะ
วิธีดูแลรักษา
- หลังจากสัมผัสกับสัตว์หรือโดนน้ำลาย ให้รีบทำการล้างมือด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง ตามด้วยยาฆ่าเชื่อ เช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือแอลกอฮอลล์สำหรับฆ่าเชื้อก็ได้ค่ะ
- หากโดนกัดเข้า ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน อย่าไว้ใจวัคซีนมากเกินไป เพราะมันไม่สามารถป้องกันได้ 100% เสมอไป อีกทั้งปล่อยไว้นานๆ มีอันตรายถึงชีวิตเชียวนะ
CR : bangkokhospital, Thairath, Thaihealth, Pixabay
Advertisements