เครียดมาก เครียดน้อย ไม่ว่าความทุกข์ทางใจจะมากน้อยแค่ไหน ล้วนส่งผลต่อสุขภาพจิตไม่ต่างกัน และเมื่อสุขภาพจิตกำลังแย่ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายเช่นเดียวกัน เนื่องจากสุขภาพจิตส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและสติสัมปชัญญะของคนเราโดยตรง เช่น ภาวะหรือโรคซึมเศร้า เมื่อใดก็ตามที่สุขภาพจิตของเราดี มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ เราจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ ทำให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ
วันนี้ UndubZapp จะมาแนะนำวิธีสร้างสุขภาพจิตดีง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการ ปรับมุมมองที่มีต่อเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปในแง่บวก ก็จะช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพใจแข็งแรง สุขภาพจิตเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับความเครียดและปัญหาต่างๆ ในชีวิตค่ะ
1.เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างพอเพียง สมองและระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจึงสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ถ้าเป็นไปได้ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ หรืออย่างน้อยที่สุดคือหลีกเลี่ยงอาหารขยะเสีย
© รูปต้นฉบับ: pexels.com
2.พักผ่อนให้เพียงพอ
การอดหลับอดนอน นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบด้านลบต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ ทำให้สติปัญญาถดถอย ความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง ตัดสินใจไม่ได้ เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอีกหลายประการ พยายามฝึกเข้านอนให้เป็นเวลา งดเล่นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตก่อนเข้านอน จะทำให้หลับง่ายยิ่งขึ้น
© รูปต้นฉบับ: pexels.com
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั้น นอกจากจะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมเกราะให้สุขภาพจิตดีตามไปด้วย เนื่องจากร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphine) ออกมาหลังช่วงออกกำลังกาย ทำให้รู้สึกแฮปปี้ มีความสุข อารมณ์ดี จึงช่วยผ่อนคลายความเครียดได้
© รูปต้นฉบับ: pexels.com
4.ทำงานอดิเรกยามว่าง
การทำงานอดิเรก หรือกิจกรรมต่างๆ ในยามว่าง ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายความเครียด ละลายอารมณ์ขุ่นมัว ทำให้หัวใจเป็นสุข ทั้งยังช่วยเพิ่มพูนทักษะความรู้ ความถนัดของตนเอง รวมถึงประสบการณ์ในชีวิต ที่สำคัญ การทำงานอดิเรกยังถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
Advertisements
© รูปต้นฉบับ: pexels.com
5.รับแดดอ่อนช่วงเช้า
การรับแสงแดดอ่อนๆ เป็นประจำช่วยให้ร่างการสังเคราะห์สารเซโรโทนิน (Serotonin) ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสารเซโรโทนินนี้เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ทั้งการควบคุมอารมณ์ ระบบย่อยอาหาร การรับแสงแดดจึงถือเป็นการบำบัดร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน
© รูปต้นฉบับ: pexels.com
6.ฝึกใจให้ปล่อยวาง
การยึดติดและการคาดหวัง ทำให้เรารู้สึกผิดหวังได้ง่ายๆ หากสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปดังที่ใจเราตั้งกรอบให้กับสิ่งๆ นั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียด ความวิตกกังวล และโรคซึมเศร้า พยายามฝึกจิตใจให้ปล่อยวางกับเรื่องต่างๆ โดยใช้วิธีจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ขณะนั้นแทน เป็นต้นว่า ถ้าทำกับข้าวอยู่ก็จดจ่ออยู่กับขั้นตอนหั่นผักหรือต้มน้ำแกงไป อย่าปล่อยใจให้ลอยไปที่อื่น หากทำเช่นนี้จนเป็นกิจวัตร จะช่วยให้ปล่อยวางอดีต และไม่คาดหวังกับอนาคตได้ง่ายขึ้น
© รูปต้นฉบับ: pexels.com
7.ระบายความรู้สึก
การมีสุขภาพจิตที่ดีนั้น มิได้หมายความว่าเราห้ามรู้สึกไม่พอใจสิ่งใดทั้งนั้น เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง สภาวะอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หงุดหงิด จิตตก ล้วนเกิดเป็นปกติ และการเกิดความรู้สึกในแง่ลบ บางครั้งก็สอนให้เราแยกแยะปัญหาต่างๆ และหาวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้เช่นกัน แต่เมื่อหาทางจัดการกับความรู้สึกด้านลบได้แล้ว ก็ควรปัดเป่าความรู้สึกลบๆ นี้ไปเสีย อย่าจมอยู่กับอดีต เพราะจะทำให้ไม่มีความสุขกับปัจจุบัน จะลองใช้วิธีระบายความรู้สึกดูก็ได้ โดยอาจเขียนไดอารี่ระบายกับตัวเอง หรือเล่าให้คนอื่นฟัง นอกจากจะได้ทบทวนการกระทำของเราต่อเรื่องนั้นๆ แล้ว ยังช่วยให้เราได้ปลดปล่อยความเครียดออกไปด้วย
© รูปต้นฉบับ: pexels.com
Advertisements