เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด!! 5 เคล็ดลับ “ปฏิเสธงานเพิ่ม” เซโนว์รักษาน้ำใจ

การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรทำ แต่นั่นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนด้วย ถ้าในสถานการณ์ที่งานของตัวเองก็กำลังวิกฤต แต่ก็ยังมีคนมาขอให้ช่วยงานเพิ่มอีก การปฏิเสธเพราะเราไม่สามารถช่วยได้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกค่ะ เพียงแค่ต้องมีศิลปะในการเซโนว์สักหน่อย โดยจะมีเทคนิคอะไรให้เราปฏิเสธได้แบบนุ่มนวล ไม่เสียน้ำใจเพื่อนได้นั้น มาดูเคล็ดลับที่ UndubZapp นำมาฝากกันค่ะ

 

1. ช่วยหาทางเลือกอื่น

วิธีนี้จะไม่ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าเราเพิกเฉยต่อคำขอร้อง เพราะคุณเองก็ถือว่าช่วยเหลือเพื่อนเช่นกัน ด้วยการให้คำแนะนำหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้ เพื่อสามารถทำงานเองได้ง่ายยิ่งขึ้น หรืออาจเสนอให้ไปปรึกษาคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มากกว่าคุณแทน เรียกได้ว่าซัพพอร์ตทุกอย่างให้เต็มที่ แต่ให้เขาลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งนั่นก็ถือเป็นวีธีการช่วยเหลืออีกแบบที่ดีมากทีเดียว

 

2. ใช้คำพูดที่ไม่ผูกมัด

ถ้าคนที่มาขอความช่วยเหลือเป็นคนที่เข้าใจเหตุผลได้ง่ายก็ถือว่าโชคดีไป แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังดันทุรังให้ช่วยโดยที่ไม่สนใจว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นหรือไม่ แถมบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ตัวเองทำได้แต่เพียงแค่อยากโยนงานให้พ้นตัว ถ้าเป็นกรณีนี้คุณอาจต้องรับมือด้วยการรับปากแบบหลวมๆ ใช้คำพูดที่ไม่ผูกมัด เช่น เดี๋ยวเอาไว้เคลียร์งานแล้วจะไปช่วย ซึ่งหมายความว่าถ้าคุณยังยุ่งอยู่ก็ไม่สามารถไปช่วยได้นั่นเอง

 

3. อธิบายเหตุผลแบบตรงไปตรงมา

ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้กับคนที่ดูมีวุฒิภาวะ เพราะการอธิบายด้วยเหตุผลที่แท้จริงก็ถือเป็นการแสดงถึงความจริงใจและเป็นการปฏิเสธที่สุภาพได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่อธิบายก็ต้องฟังดูเข้าท่าหน่อย เช่น เป็นงานที่เกินความสามารถของคุณ หรืออาจไม่ใช่ความรู้ที่คุณถนัด ซึ่งฟังดูน่าเชื่อถือและเป็นเหตุผลที่ผู้ฟังต้องยอมรับด้วยค่ะ

 

Advertisements

4. มีจุดยืนของตัวเอง

การสร้างจุดยืนของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่เสียมารยาท เช่น คุณอาจมีกฏของว่าสามารถให้คำแนะนำในการทำงานได้เสมอ แต่จะไม่ลงมือทำงานแทนใคร ซึ่งนั่นก็ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะถ้าคุณทำงานแทนคนอื่น นั่นก็เหมือนการทำข้อสอบแทนเพื่อน ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดีเลยค่ะ

 

5. ปรึกษาหัวหน้า

สำหรับใครที่ต้องเจอปัญหาการโยนงานแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า การปฏิเสธอย่างเดียวอาจดูเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยคุณอาจแก้ปัญหานี้ด้วยการปรึกษากับหัวหน้างานเพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเสนอทางแก้ไขที่เหมาะสม เช่น หากต้องการให้คุณช่วยงานนี้เพราะความสามารถของคุณ ก็อาจต้องมีการกระจายงานส่วนอื่นๆ ออกไป หรือเพิ่มผลตอบแทนให้ตามผลงาน โดยวีธีนี้ถือเป็นการรักษาสิทธิ์ของตัวคุณเอง เพราะถึงแม้จะอยากจะรักษาน้ำใจแค่ไหน ก็ไม่ควรปล่อยให้ตนเองถูกเอาเปรียบจนเกินไปค่ะ

นอกจาก เทคนิคการปฏิเสธ 5 ข้อนี้แล้ว UndubZapp ยังมีอีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยให้คำพูดดูนิ่มนวลขึ้น นั่นก็คือการใช้ภาษากายที่อ่อนโยน ไม่ว่าจะเป็นสายตา ท่าทาง หรือน้ำเสียง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกของคนฟังมากทีเดียวค่ะ

กดติดตาม ADD Line @UndubZapp

 

แซ่บกันต่อ…

>> นี่เพื่อนเองงง!! 6 เรื่อง ที่คุณควรเกรงใจเพื่อนบ้าง (แม้สนิทแค่ไหนก็ตาม)

>> ไม่เล็กเลยนะ! 5 พฤติกรรม “ทำร้ายความประทับใจแรก” ระหว่างคุณ & เพื่อนร่วมงาน

Advertisements

Advertisements

Advertisements