โรคกระเพาะอาหาร หนึ่งในอาการออฟฟิศซินโดรมที่จู่โจมชีวิตมนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คน อาจไม่ได้เป็นแค่เพียงอาการ หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด ปวดแสบ ปวดระบมท้องเท่านั้น แต่อาจเป็นสัญญาณอันตรายถึงความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจากโรคกระเพาะอักเสบได้
มะเร็งกระเพาะอาหารยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้
แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่แน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ เช่น เรื่องของกรรมพันธุ์ อายุ อาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต ร่วมถึงภาวะอ้วน แต่ที่ดูจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใกล้ตัวระยะเผาขนมนุษย์ออฟฟิศกันมากที่สุด คือ อาการกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H.pylori )
เจ้าเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H.pylori ) เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร โดยเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือการใช้ภาชนะ จานชาม ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว
อาการแบบนี้สงสัยไว้ก่อน ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเปล่า?
1.อาหารไม่ย่อยหรือรู้สึกไม่สบายท้อง โดยเฉพาะช่องท้องส่วนบนและกลาง
2.ท้องอืดหลังรับประทานอหาร
3.แสบร้อนหน้าอก(คล้ายเป็นกรดไหลย้อน)
4.พบเลือดปนมาในอุจจาระ
5.อาเจียน
6.อ่อนเพลีย
การตรวจหาเชื้อและรักษา
หากพบอาการผิดสังเกตเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุของอาการทันที โดยแพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H.pylori ) ในกระเพาะอาหาร และนำชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารไปตรวจ
Advertisements
การป้องกันเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H.pylori )
ถึงแม้โรคกระเพาะอาหารจะไม่ถือว่าเป็นโรคอันตราย แต่หากปล่อยไว้จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะทะลุ หรือกระเพาะอุดตัน ก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน มนุษย์ออฟฟิศ พนักงานกินเงินเดือนทั้งหลาย ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด รับประทานอาหารในปริมาณที่ร่างกายต้องการเท่านั้น ไม่ควรกินมากจนจุกแน่น หรือกินน้อยจนเกินไป รับประทานอาหารให้เป็นเวลา งดเว้นอาหารรสจัด หันไปออกกำลังกายเพื่อคลายเครียด ลด ละ เลิก แอลกอฮอลล์ ชา กาแฟ รวมถึงไม่รับประทานอาหารหรือยาที่มีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
เช็กอาการ ปวดท้องแบบไหนที่ต้องพบแพทย์ด่วน
หากอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ เกิน 4 สัปดาห์ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด แต่หากมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการต่อไปนี้ ต้องรีบมาพบแพทย์เป็นการด่วน
1.ปวดท้องและอาเจียนร่วมด้วย
2.ปวดท้องแบบปวดบีบ ปวดเกร็งหรือปวดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
3.ตาเหลือง ตัวซีด อาจเกิดจากภาวะโลหิตจาง จากการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
4.มีไข้ตลอดเวลา
5.รับประทานยาลดกรดแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือปวดมากขึ้น
ข้อมูลเนื้อหา
https://www.bumrungrad.com/th/betterhealth/2557/better-digestive-health/abdominal-pain-and-dyspepsia
Advertisements