โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจไปยังระบบประสาท ให้ผู้ป่วยมีอาการเครียดง่าย มองโลกในแง่ลบ ซึมเศร้า ขาดความมั่นใจ อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้เลยหากไม่รู้จักรักษาอย่างถูกวิธี วันนี้ Undubzapp จึงขอรวบรวมวิธีเช็กอาการโรคซึมเศร้า พร้อม 10 วิธีรับมือโรคซึมเศร้า บรรเทาความเครียด จากบทความของจิตแพทย์หลายโรงพยาบาล มาฝากทุกท่านกันค่ะ
9 วิธีเช็กว่าตัวเองมีเกณฑ์เป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่านะ?
1. จู่ๆ ก็หลายเป็นคนหงุดหงิดง่ายซะงั้น
2. กิจกรรมที่เคยสนุกสนานในอดีต กลับกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ
3. น้ำหนักลดหรือเพิ่ม แถมเบื่ออาหารอีกต่างหาก
4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป บางทีมีตื่นกลางดึก
5. ความจำแย่ลง สมาธิก็แย่ลงด้วย
6. ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อยล้าตลอดเวลา
7. กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่อยากพูดจากับใคร
8. อาการทางร่างกาย เช่น ท้องผูก ปากคอแห่ง ปวดหัว
9. คิดถึงแต่เรื่องความตาย และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
“นักจิตวิทยาเตือนว่าหากมีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 4 ข้อ ให้พยายามระวังความคิด และพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้ได้ มีสติตลอดเวลา แต่ถ้าหากรู้ตัวว่าหยุดความคิดด้านลบไม่ได้เลย ก็ลองหาคนคุยเปิดใจดูเลย หรืออาจปรึกษาจิตแพทย์โดยตรงก็ได้ อย่าอายไม่เข้าเรื่องเลยนะ คนต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ปรึกษาจิตแพทย์กันเป็นเรื่องปกติ”
โรคซึมเศร้า มียารักษามั้ย?
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและระบบประสาทความคิดจริงๆ จึงขอบอกเลยว่า “ยารักษาโรคซึมเศร้า มีจริงค่ะ!” ซึ่งยาสามารถแบ่งออกตามโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ได้ 3 ประเภท ต่างมีสรรพคุณเหมือนกันคือการปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลย์ แต่ทั้งนี้ก็ควรทานยาพร้อมกับการเยียวยาสภาพจิตใจให้กลับมา 100% ได้ด้วยตัวเอง
วิธีรับมือโรคซึมเศร้า บรรเทาความเครียด
1. ไปออกกำลังกายเดี๋ยวนี้
ออกไปพบปะสังคม ออกกำลังขยับแข้งขยับขา ออกแรงเยอะๆ ให้สะใจคลายความเครียดไปเลย นอกจากจะช่วยทางจิตใจได้แล้ว ร่างกายยังแข็งแรง แล้วพอเหนื่อยมากๆ ก็ทำให้เกิดอาการอยากอาหาร ขับถ่ายดีขึ้น และนอนหลับง่ายมากขึ้นอีกด้วย
2. งดทำงานยากๆ ในช่วงนี้
ในสภาวะจิตใจไม่ปกติ งดเว้นการทำงานที่ต้องใช้ความคิดซับซ้อนไปก่อน และพยายามอย่าตั้งความคาดหวังกับงานมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผิดหวังเข้าไปอีก ทำตัวสบายๆ งานเป็นยังไงช่างมัน รักตัวเองไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
Advertisements
3. ห้ามรับข่าวสาร ดูหนัง ฟังเพลง ชวนหดหู่จิตตก
แค่คนปกติรับรู้เรื่องพวกนี้ก็หดหู่พออยู่แล้ว ยิ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะหดหู่ยิ่งกว่าคนทั่วไปคูณสิบไปเลยค่ะ ช่วงนี้พยายามทำตัวโลกสวยให้ได้มากที่สุด รับพลังด้านบวกเข้ามาเยอะๆ
4. จัดบ้านสร้างสภาพแวดล้อมใหม่
นอกจากจะได้ทำกิจกรรมให้ความคิดไม่ฟุ้งซ่านแล้ว การจัดบ้าน จัดของ ทำความสะอาดบ้าน หรือจะตกแต่งบ้านใหม่ เช่น ปลูกต้นไม้ประดับ เลี้ยงสัตว์ วิธีเหล่านี้จะช่วยในเรื่องของการผ่อนคลายจิตใจให้จรรโลงผ่องใส ยิ่งถ้าเราต้องอาศัยอยู่บ้านในทุกๆ วัน ยิ่งสมควรที่ต้องทำเป็นอย่างยิ่ง
5. อย่าเพิ่งตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต
เช่นการหย่าร้าง หรือการลาออกจากงาน เพราะในช่วงนี้คุณสภาพจิตใจไม่สู้ดี อย่าเพิ่งคิดว่าต้องออกมาอยู่คนเดียวเงียบๆ ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คน ให้ช่วยคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้าจริงหรือไม่? เพราะถ้าด่วนตัดสินใจไปแล้วพลาด อาจจะต้องมานั่งเสียใจในภายหลังก็เป็นได้
6. ทำกิจกรรมเบาสมอง
อาจรวมตัวเพื่อนๆ มาดูกีฬา ดูหนังกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือออกไปร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมดีๆ เช่นปลูกป่า ออกค่ายอาสา ช่วยเหลือน้องๆ ผู้ยากไร้ ไม่แน่นะคุณอาจได้รับพลังบวกและแง่คิดดีๆ อีกมากมายที่ช่วยผลักดันความคิดและชีวิตออกจากสภาวะซึมเศร้านี้แบบถาวรเลยก็เป็นได้
7. อย่าโทษตัวเองเด็ดขาด!
การว่ากล่าวว่าร้ายโทษตัวเอง จะยิ่งทำให้สภาพจิตใจเราจมดิ่งไปในห้วงลึกของความซึมเศร้าลงไปอีก พยายามหาข้อดีของตัวเอง และจงดีใจกับสิ่งที่เราทำสำเร็จไม่ว่าจะเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ถึงขั้นออกปากชมตัวเองบ่อยๆ ว่าเก่งมากก็ได้ แต่อย่าโทษตัวเองเด็ดขาดนะจำไว้!
8. ระบายอารมณ์เสียบ้าง
ความซึมเศร้าที่เกิดจากอารมณ์อึดอัดกลัดกลุ้มใจ แนะนำว่าอย่าเก็บอาการนี้ไว้คิดมากคนเดียว โดยสามารถหาทางระบายออกเช่น การตะโกน ร้องไห้ หรือระบายความรู้สึกลงในสมุดบันทึก ก็เป็นวิธีเยียวยาจิตใจที่ดีทีเดียว
9. พยายาม พยายาม และพยายาม!!
เพราะโรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคที่นอนพักผ่อน กินยา ดื่นน้ำเยอะๆ แล้วจะหายได้ในทันที แต่เราต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองในด้านการเยียวยาจิตใจให้ได้มากที่สุดยิ่งกว่าที่จะมากได้ สะกดจิตตัวเองได้ยิ่งดี เพื่อให้เคมีหรือฮอร์โมนในร่างกายเริ่มปรับสมดุลได้อีกครั้ง
10. ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคซึมเศร้า ยิ่งรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะยิ่งปลอดภัยกับชีวิตมากกว่า เพราะฉะนั้นการเลือกที่จะพบจิตแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือน่าอายแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นโรคที่วงการแพทย์ทำการวิจัยศึกษากันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักถึงอันตรายของมันที่ไม่ต่างจากโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายอื่นๆ เลย แถมนวัตกรรมการรักษาก็ก้าวหน้ามากถึงขั้นมียารักษาด้วยนะ
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Advertisements