น้ำมันปลา ช่วยอะไร…ลดการอักเสบได้จริงไหม และควรกินตอนไหนดี

เรียกได้ว่าช่วงนี้นั้นอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก หลายคนจึงมองหาตัวช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ น้ำมันปลา วันนี้ Undubzapp เลยขอพาผู้อ่านทุกท่านไปอ่านกันว่าน้ำมันปลา ช่วยอะไร ควรกินตอนไหน มีข้อควรระวังหรือไม่ ไปอ่านกันเลยค่ะ

 

น้ำมันปลา คืออะไร

น้ำมันที่สกัดมาจากส่วนต่างๆ ของปลาทะเลน้ำลึก ได้แก่ เนื้อ หนัง หัว และหางของปลาทะเลน้ำลึก (โดยเฉพาะปลาในเขตหนาว เพราะมีสารสำคัญอยู่มากกว่าในเขตน้ำทั่วไป) โดยปลาที่นิยมน้ำมาสกัด เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเฮอร์ริ่ง

 

 

น้ำมันปลา ช่วยอะไร

ในน้ำมันปลานั้นมีกรดไขมันที่มีประโยชน์อยู่หลายชนิด คือ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 และ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-6 โดยกลุ่มที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มโอเมก้า-3 เพราะมีกรดที่มีความสำคัญอยู่ 2 ชนิด นั่นคือ EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ไม่สามารถสร้างเองได้ จะได้รับผ่านการรับประทานอาหารเพียงเท่านั้น โดยมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

ประโยชน์ต่อระบบหัวใจและสมอง

ช่วยลดไขมันชนิดเลวในเลือด และยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ประโยชน์ต่อระบบเลือด

มีส่วนช่วยให้หลอดเลือดขายตัว ทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ดี

ประโยชน์ต่อความดันโลหิต

เนื่องจากโอเมก้า-3ในน้ำมันปลาทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงนั้นค่าความดันลดลง อย่างไรก็ตาม จะไม่ส่งผลต่อผู้ที่มีความดันปกติ

ช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์

ไขมันไตรกลีเซอไรด์นั้นเป็นไขมันชนิดเลว ที่หากสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากๆ เข้าจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกาย และเสี่ยงให้เกิดโรคร้าย อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับอ่อนอักเสบ โรคไขมันเกาะตับ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจากวิจัยพบว่าการทานน้ำมันปลานั้น จะช่วยลดปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้มากถึง 20-50% เนื่องจากมีอุดมไปด้วยกรด EPA โดยค่อนข้างปลอดภัยและสามารถใช้ร่วมกับยาลดระดับไขมันในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงได้

นอกจากนี้กรด EPA ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ได้อีกด้วย

ช่วยต้านการอักเสบ

เพราะกรด EPA เป็นองค์ประกอบสำคัญของสารพลอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยลดการอักเสบ ปวด บวมข้อ จึงเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ที่เป็นโรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ และการอักเสบของข้อต่อในหญิงมีครรภ์

ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมอง

เพราะในน้ำมันปลาอุดมไปด้วย DHA ซึ่งมีส่วนช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นระบบความจำ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท นอกจากนี้ยังลดการสร้างเส้นใยในสมอง อันเป็นตัวการทำลายเส้นใยประสาทส่วนความจำ จึงช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า

มีผลการวิจัยพบว่าผู้ที่ทานน้ำมันปลาเป็นประจำ มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าต่ำ เพราะระดับของกรดไขมันที่มีผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้านั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สมดุล ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าผู้ที่มีระดับกรดไขมันโอเมก้า-3 ต่ำกว่าโอเมก้า-6 มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป

Advertisements

ลดเสี่ยงการเป็นเบาหวาน

จากวิจัยพบว่ากรด EPA มีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น และมีงานวิจัยพบว่าน้ำมันปลาช่วยป้องกันการพัฒนาจากภาวะก่อนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

บรรเทาอาการหอบหืด

เนื่องจากน้ำมันปลามีฤทธิ์ช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ และสารสำคัญที่ทำให้เกิดการหอบหืด การทานน้ำมันปลาอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของอาการได้

ช่วยชะลอวัย

เพราะน้ำมันปลามีโอเมก้า-3 จึงช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายเสื่อมถอยลง

 

 

น้ำมันปลา กินตอนไหน

ควรรับประทานพร้อมอาหาร หรือหลังอาหาร จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังสามารถรับประทานพร้อมกับวิตามินตัวอื่นได้ไม่มีปัญหา

 

 

ข้อควรระวังในการทานน้ำมันปลา

1. การรับประทานที่มากเกินไปอาจส่งผลให้มีเลือดออกและเลือดไม่แข็งตัว ซึ่งโดยทั่วไปนั้นปริมาณที่รับประทานไม่ควรเกิน 3,000 มก. ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนตัดสินใจซื้อทานเป็นอาหารเสริม

2. น้ำมันปลายังมีส่วนเสริมฤทธิ์ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน หากใครที่มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยานี้อยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน

3. ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถรับประทานน้ำมันปลาได้ แต่ควรหยุดทานประมาณ 2 เดือนก่อนคลอดบุตร และควรแจ้งกับทางแพทย์ที่ดูแลว่าทานอาหารเสริมใดอยู่บ้าง

 

ขอบคุณภาพจาก : freepik

Advertisements

Advertisements

Advertisements