น้ำเหลืองไม่ดีมีจริงมั้ย? คันตามผิว เกาจนพุพอง ระวังโรคแผลพุพอง (Impetigo)

เคยหรือไม่? อยู่ๆ ก็เกิดอาการคันตามผิวหนัง เมื่อเริ่มเกามากๆ ผิวหนังก็จะแดง เกิดตุ่มน้ำเล็กๆ บวมขึ้นมา และมักจะรู้สึกคันยิบๆ บริเวณดังกล่าวไม่หยุดหย่อน ครั้นเมื่ออาการคันบริเวณตุ่มแดงเหล่านั้นทุเลาลง ก็กลับกลายเป็นว่าตุ่มแดงๆ เหล่านั้นเปลี่ยนมาเป็นจุดดำตามผิวหนัง กลายเป็นรอยกระดำกระด่างบนร่างกาย สร้างความรำคาญใจ และทำให้ขาดความมั่นใจเป็นอย่างมาก

 

หลายๆ คนรู้จักอาการเหล่านี้ในชื่อ “โรคน้ำเหลืองไม่ดี” หรือ “โรคน้ำเหลืองเสีย” แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่า “โรคน้ำเหลืองไม่ดี” หรือ “โรคน้ำเหลืองเสีย” ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันจนติดปากนั้น เป็นโรคที่ไม่มีอยู่จริงในวงการแพทย์ แล้วอาการดังกล่าวคืออาการของโรคอะไรกันแน่ ตาม UndubZapp ไปหาคำตอบกันค่ะ

 

โรคแผลพุพอง

โรคแผลพุพอง หรือ โรคผิวหนังพุพอง (Impetigo) คือ ภาวะที่ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย มีสาเหตุเบื้องต้นมาจากเชื้อแบคทีเรียสองชนิด ได้แก่

 

  • สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
  • สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes)

 

เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล อาการลุกลามของภาวะดังกล่าว และระยะเวลาติดเชื้อจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของแต่ละคน สุขอนามัยที่ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียลุกลามได้ ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกช่วงวัย หากพบว่าตนเองมีอาการของภาวะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ต้องกังวลจนเกินไป เนื่องจากเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรักษาได้ในปัจจุบัน

 

อาการของโรค

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังเป็นโรคติดเชื้อที่แทรกซ้อนได้ในโรคผิวหนังอื่นๆ มักเกิดบนผิวหนังที่ปกติ ก่อนเริ่มเป็นตุ่มน้ำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และ ขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็ว ระยะแรกจะเห็นเป็นตุ่มน้ำใส แล้วกลายเป็นหนอง ผนังของตุ่มน้ำจะบาง แตกออกง่าย เมื่อแตกออกจะเห็นเป็นผิวหนังแดงๆ แฉะๆ ตกสะเก็ดสีน้ำตาลอ่อน บริเวณที่พบได้บ่อย คือ ใบหน้า ลำตัว แขน ขา  เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะกระจายได้ทั่วตัวหากใช้มือแคะ แกะ เกาตุ่มผื่น สามารถแบ่งประเภทของแผลพุพองได้เป็น 3 ชนิด

  1. แผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ

มีอาการคัน ถ้าผู้ป่วยเกาบริเวณผิวหนังที่รู้สึกคัน จะเกิดเป็นตุ่ม ผื่นแดง แต่ไม่รู้สึกเจ็บ หากผู้ป่วยยังคงเกาต่อไปเรื่อยๆ แผลอาจกระจายเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว

Advertisements

  1. แผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำ

มีอาการคล้ายๆ กับแบบไม่มีตุ่มน้ำ แต่แผลจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำพองใส งดเกาหรือสัมผัสบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย และงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นด้วย

  1. แผลพุพองแบบรุนแรง

มีอาการคล้ายกับๆ แบบไม่มีตุ่มน้ำ แต่อยู่ลึกกว่า เนื่องจากเกิดการติดเชื้อที่ชั้นหนังแท้ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

©pixabay.com

 

 

การรักษา

ส่วนใหญ่แล้ว แผลพุพองจะหายเองภายใน 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่วนการดูแลรักษาตัวในด้านอื่นๆ ที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้

 

  • ไม่แกะ/เกาแผล
  • หมั่นตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการติดเชื้อจากการเกา
  • หากมีบาดแผล ควรใช้น้ำเกลือสะอาดชะล้างแผลวันละ 2 ครั้ง จนกว่าแผลจะหายดี
  • รักษาความสะอาดและสุขอนามัยเป็นอย่างดี
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน

©pixabay.com

 

โรคแผลพุพองเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ เพียงแต่ผู้ป่วยต้องหมั่นรักษาความสะอาดและมีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญ ปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์มากมายที่อวดอ้างว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคน้ำเหลืองไม่ดี ช่วยบรรเทาอาการโรคน้ำเหลืองเสีย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบยาฉีด ยาทาภายนอก หรือสมุนไพรสำหรับชงรับประทานก็ดี ผู้ป่วยควรใช้วิจารณญาณให้มากๆ ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทราบแหล่งผลิตโดยเด็ดขาด อาจทำให้เสียเงินและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

Advertisements

Advertisements

Advertisements