เคยถูกใครทักว่าพูดไม่รู้เรื่องบ้างไหม? หรือรู้สึกหรือไม่ว่าตัวคุณเองพูดกับใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ ฟังคนอื่นก็ไม่ค่อยเข้าใจ สื่อสารกับใครแต่ละทีทำไมช่างยากเย็นซะเหลือเกิน แล้วคุณว่าเป็นเพราะอะไรล่ะ? ถ้าไม่แน่ใจวันนี้ลองตาม UndubZapp มาฟัง 5 สาเหตุ รวมถึงวิธีแก้ไขกันเลยดีกว่า
1. คุณเรียงลำดับความคิดไม่ถูก
ยิ่งคุณเป็นคนไม่เก่งเรื่องการสื่อสาร ก็ยิ่งต้องพยายามเรียบเรียงทีละประโยคให้ดีเสียก่อนที่จะไปพบกับอีกฝ่าย เพราะบางทีพูดออกมายาวเหยียดแต่คนฟังกลับจับใจความไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย และหากจะเล่าอะไรยาวๆ ประเด็นที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะล่ะก็ ให้จดและเรียบเรียงลำดับลงในกระดาษเสียก่อน จากนั้นฝึกพูดตามที่จดไว้ ทำแบบนี้บ่อยๆ จนเป็นนิสัย ต่อไปจะสามารถสร้างสรรค์เรื่องเล่าได้ถูกลำดับ และฟังง่ายมากขึ้นด้วยนะ
2. ยังขาดความมั่นใจนะซี!
การสื่อสารที่ดีนั้นสามารถบ่งบอกได้ว่าตัวคนๆ นั้นมีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหน คนที่มั่นใจในตัวเองสูง การสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจก็มักฟังง่ายและเฉียบขาด แล้วการที่คุณเองขาดซึ่งความมั่นใจ ก็ยิ่งไม่ต้องพูดเลยว่าเวลาบอกเล่าเรื่องราวอะไร เรื่องนั้นช่างทรมานใจคนฟังสิ้นดี!! คุณไม่ต้องอายหรอกค่ะใครๆ ก็เคยเป็นมาก่อน อย่างคนเก่งๆ ก็เคยประหม่าทั้งนั้นแหละ เพียงแต่เขาผ่านจุดนั้นมาแล้วโดยที่คุณก็ไม่เคยเห็นไง คุณก็ลองแก้ไขตรงนี้ เพิ่มความกล้าเข้าไปก่อนไปสื่อสารกับใคร หนึ่งคือมั่นใจในตัวเอง และสองคือคุณต้องรู้ให้จริงในเรื่องที่จะพูด มีสองสิ่งนี้สามารถสื่อสารออกมาดีขึ้นเยอะ
3. เพราะไร้ซึ่งเป้าหมาย… เลยไม่รู้ว่าจะสื่ออะไร
ไม่มีเป้าหมายที่จะพูด ไร้ซึ่งภาพในหัว ขาดจุดประสงค์ที่ต้องการจะสื่อสาร หากคุณพูดวกไปวนมาคนฟังก็ไม่สามารถจับจุดประสงค์คุณได้หรอก ดีไม่ดีเขาอาจเข้าใจไปในเรื่องอื่นก็ได้ แบบนี้กว่าจะคุยกันเข้าใจคงปาไปครึ่งวัน เหมือนกับคนที่พูดไปได้เรื่อยๆ แต่ข้อนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อย่างที่คุณต้องมามัวกุมขมับอยู่หรอกนะ แค่กลับไปกำหนดจุดประสงค์ในเรื่องๆ นั้นให้ดีก่อน ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณอยากให้อีกฝ่ายรับรู้ กำหนดให้ชัดเจน! แล้วบอกเขาไปเลย ว่าคุณจะสื่อถึงอะไร แถมคุณยังไม่ต้องมาร่ายยาวเหยียดแบบนี้เลยล่ะ
4. ชีวิตขาดซึ่งสมาธิ
หัวใจสำคัญอีกสิ่งคือสมาธิที่ทุกคนต้องมี เป็นไปได้ว่าที่คุณยังเป็นแบบนี้ เพราะคุณขาดสมาธิในการรับฟังคนอื่น อาจจะทำให้เวลาผู้อื่นพูดกับคุณ ดูเหมือนคุณตั้งใจฟังแต่ก็ได้แค่ฟังแบบผิวเผิน สุดท้ายไม่เข้าใจอยู่ดี หรือบางรายอาจแค่มองหน้าเหมือนว่าเข้าใจ หารู้หรือไม่ว่าดันเอาสมาธิไปจับจุดแค่ใบหน้าผู้พูดหรือส่วนอื่นเสียก่อนแล้ว กลายเป็นว่าเวลาถูกถามมาคุณก็ดันตอบคำถามได้ไม่ตรงประเด็น อีกอย่างคือขาดสมาธิในการพูดเช่นเดียวกัน อาจฝึกควบคุมสติตัวเอง ฝึกให้ใจนิ่งบ้าง แล้วเวลาสื่อสารหรือเจรจาเรื่องอะไร คุณควรคิดเพียงเรื่องนั้นเรื่องเดียว อย่าพยายามเอาเรื่องที่มีอยู่ในหัวออกมาพูดด้วย เพราะนั่นก็เป็นจุดบอดที่ทำให้คุณเสียสมาธิในการพูดคุยค่ะ
Advertisements
5. คุณมีศัพท์เฉพาะตัว… ทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ
บางครั้งคุณก็มักใช้คำศัพท์เฉพาะตัว เวลาเล่าเรื่องต่างๆ ให้เพื่อนพ้องผู้ร่วมงานฟัง พูดยาวเหยียดแต่มีคุณเท่านั้นที่เข้าใจอยู่คนเดียว โดยอีกฝ่ายก็ไม่รู้เรื่องนั้นกับคุณด้วยเลย เป็นไปได้ว่าคุณลืมนึกถึงอีกฝ่ายไป โดยทุกครั้งที่คุณกำลังบอกเล่าอะไรก็ตามคุณแค่อยากบอกในสิ่งที่คุณไปสัมผัสมาเท่านั้น แถมใช้คำเฉพาะตัวเองที่รู้ใส่ลงไปเยอะแยะ พอพูดจบ! เขาเลยมองว่าคุณเป็นคนเล่าเรื่องได้แย่ ฟังตั้งนานไม่ได้เนื้อความอะไรจริงๆ ไม่น่าเสียเวลาเลยอะไรแบบนี้ ซึ่งถ้าคุณเลี่ยงศัพท์ที่รู้อยู่คนเดียวออกไปน่าจะดีกว่านี้ค่ะ หรืออาจเปลี่ยนศัพท์ที่คุณรู้ฝ่ายเดียวเป็นขยายความคำนั้นก็ดีกว่าเยอะเลย
เคยสังเกตไหมล่ะ ว่าบางคนสามารถพูดยาวมาก… แต่คุณไม่ต้องถามซ้ำ เข้าใจทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย ลองเอามาต่อยอดพัฒนาตัวคุณเองก็ย่อมได้เหมือนกันนะ
แซ่บกันต่อ…
>> 4 วิธีฝึกให้เป็นคนกล้าพูดในที่ประชุม อัพความกล้า เพิ่มความมั่นใจ
>> 5 เทคนิคพูดให้มีพลัง “หัวหน้ารับฟัง เพื่อนร่วมงานเข้าใจ” ว่านี่ไม่ใช่การบ่นงุ้งงิ้ง
Advertisements