ดับอารมณ์โกรธ เบรกความรุนแรง!! 4 วิธีรับมือกับคนหัวร้อน วีนเหวี่ยง ขึ้นง่าย ให้มีประสิทธิภาพ

ข่าวเด่นประเด็นร้อนส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันในสังคมทุกวันนี้ หนีไม่พ้นปัญหาร้อนๆ จากคนหัวร้อนและความอารมณ์ร้อนทั้งหลาย กลายเป็นว่า “ความหัวร้อน” ที่ไม่ได้เกิดกับทุกคน ถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันของทุกๆ คนไปเสียแล้ว

 

ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในความปลอดภัยของพี่น้องทุกคน UndubZapp ขออาสาพาทุกคนไปเรียนรู้วิธีรับมือกับคนหัวร้อน วีนเหวี่ยง ขึ้นง่าย ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากว่าอยู่มาวันหนึ่ง คุณตกกระไดพลอยโจนเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ร้อนๆ เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คุณต้องดีลกับคนหัวร้อนเข้า คุณควรรับมืออย่างไร ไปติดตามกันได้เลยค่ะ!

 

1.ควบคุมสติให้ดี

สิ่งที่คุณต้องทำเป็นลำดับแรกเมื่อเจอกับคนหัวร้อน คือคุณต้องควบคุมสติให้ดี มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา การที่อีกฝ่ายร้อนมาแล้วคุณร้อนกลับ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำยังเป็นการทำให้ไฟที่ร้อนอยู่แล้ว ยิ่งลุกโชนเข้าไปใหญ่ด้วย แถมยังเป็นการเพิ่มกองไฟขึ้นมาอีกกอง กองไฟสองกองมาเจอกัน ก็อาจลุกลามใหญ่โต กลายเป็นไฟป่าได้ ดังนั้น แทนที่จะด่วนไฟท์ปกป้องสิทธิของตัวเอง ทำใจให้ร่มๆ ก่อนดีกว่า การจะดับไฟให้ได้ผลจำต้องใช้น้ำเข้าสู้เท่านั้น

© รูปต้นฉบับ:  pexels.com

 

 

2.พยายามทำความเข้าใจ

เป็นที่แน่นอนล่ะว่าสาเหตุที่คนหัวร้อนเกิดอาการวีนเหวี่ยงขึ้นมา ย่อมต้องมีเหตุบางอย่างที่ทำให้เขาไม่พอใจจนเกิดบันดาลโทสะเข้า พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงโมโหเป็นฟืนเป็นไฟเช่นนั้น  สอบถามหรือพูดคุยกันอย่างใจเย็นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าพูดคุยไม่ได้ แล้วคุณก็ไม่เข้าใจเลยว่าเกิดอะไรขึ้น พยายามจับใจความจากคำที่เขาโพล่งออกมาให้ได้มากที่สุด หาพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย ภาพจากกล้องวงจรปิด แล้วแต่กรณี ถ้าเป็นคนรู้จักกัน ต้องหาทางแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นคนแปลกหน้า…แค่แยกย้ายกันไปก็พอ

© รูปต้นฉบับ:  pexels.com

Advertisements

 

 

3.หาทางแก้ไขปัญหา

เมื่อรับทราบปัญหาจากความหัวร้อนแล้ว ลองเจรจาหาทางแก้ไขร่วมกันดู โกรธเพราะอะไร มีอะไรให้ช่วยไหม ลองแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาที่ให้เขาได้เป็นฝ่ายตัดสินใจ ให้เขารู้สึกว่าเขามีทางเลือก ไม่ใช่จำต้องเลือกเพราะถูกคุณควบคุม ในกรณีที่เคลียร์ไม่ได้ อาจต้องติดต่อบุคคลที่สาม เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ประกันภัย หัวหน้างาน หรือบุคคลใกล้ชิดของอีกฝ่าย อย่างไรก็ตาม คุณต้องไม่ลืมที่จะแสดงความประสงค์ดี ชี้จุดประสงค์ให้อีกฝ่ายเห็นชัดเจนว่า คุณพยายามจะช่วยหาทางออกให้แฮปปี้กันทุกฝ่ายอยู่ อย่าลืมอ่านสถานการณ์ให้ขาดด้วยว่า อีกฝ่ายยังใช้เหตุผลคุยกันได้ไหม สำหรับบางคนอาจต้องแยกย้ายกันไปให้ภูเขาไฟมอดก่อนถึงจะเจรจากันได้

© รูปต้นฉบับ:  pexels.com

 

 

4.ให้อภัย ไม่ยึดติด

หลายๆ ครั้ง สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่มีคำอธิบายให้เรารู้หรอกว่า ทำไมเราอยู่เฉยๆ แล้วถึงต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ ในเมื่อคำตอบเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา และเราไม่สามารถบังคับกะเกณฑ์สิ่งใดๆ ได้ ให้อภัยเขา แล้วก้าวผ่านเหตุการณ์นั้นไป อย่ายึดติดอยู่กับที่เดิม การที่คุณยึดติด และเฝ้าถามตัวเองซ้ำๆ ว่า “ทำไมเราต้องเจอเรื่องนั้น” หรือ “ทำไมเราต้องเจอคนแบบนี้” รังแต่จะทำให้ตัวเองน้อยใจ และยังเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ ดังนั้น ปล่อยวางเรื่องแย่ๆ มูฟออนต่อไป อย่าใส่ใจเรื่องที่ทำให้เสียเวลา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” นั่นแหละ

© รูปต้นฉบับ:  pexels.com

 

©Feature image unsplash.com

Advertisements

Advertisements

Advertisements