เครียดมากทำไงดี เปิดทริค 4 วิธีผ่อนคลายความคิด ลดความกังวล

UndubZapp ขออาสาพาเพื่อนๆ ชาวออฟฟิศวัยทำงานทุกคน มาเรียนรู้ Stresss Management สำรวจวิธีแก้เครียด ผ่อนคลายภาวะคิดมาก ลดความวิตกกังวลอย่างเกิดผล สามารถนำวิธีการดังกล่าวไปแนะนำกับคนใกล้ชิด หรือลูกหลานวัยเรียนได้ด้วย เพราะความเครียด ภาวะคิดมาก และโรควิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นกับบุคคลช่วงวัยใดหรือเพศใดก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่อย่างเดียว

 

1.ปรับปรุงความสมดุล

การที่ระบบต่างๆ ภายในร่างกายและฮอร์โมนขาดความสมดุลนั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความเครียดได้เหมือนกัน วิธีการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน จึงเป็นวิธีการสำคัญอันดับต้นๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเครียด ผ่อนคลายภาวะคิดมาก ลดความวิตกกังวลได้อย่างเกิดผล

เราทุกคนควรปฏิบัติตามวิธีดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานเป็นประจำ ได้แก่ ดูแลรักษาร่างกายและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวให้สะอาด แปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตราย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารสีฉูดฉาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี

 

 

2.ยอมรับความเครียด

ความเครียดเป็นภาวะอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม การที่เรารู้สึกเครียด คิดมาก หรือวิตกกังวลกับเรื่องบางเรื่อง ทั้งๆ ที่คนอื่นรอบตัวไม่ได้มาเครียดเรื่องเดียวกับเรา ถือเป็นเรื่องปกติมากๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย

ฉะนั้นแล้ว อย่าพยายามเก็บกดอารมณ์เครียดๆ เอาไว้ ไม่จำเป็นต้องพยายามคิดบวกว่า “เราไม่เครียดๆ” และยอมรับกับตัวเองไปตรงๆ เลยว่า “เรากำลังเครียดเรื่องนี้อยู่นะ” เพื่อให้ตัวเราเองตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

Advertisements

 

 

3.ค้นหาความผิดพลาด

เมื่อเรารู้แล้วว่าเรามีปัญหาและต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเป็นลำดับถัดมาก็คือค้นหาที่มาของความผิดพลาด เช่น เราเครียดเพราะถูกเรียกไปตักเตือนเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

เราค้นหาความผิดพลาดแล้วพบว่า เราอดหลับอดนอนดูซีรีส์ จนไม่มีสติสตังเวลาทำงาน ต้องทำงานแบบเบลอๆ ไปตลอดทั้งวัน เป็นเหตุให้ประสิทธิภาพในการทำงานด้อยลง และถูกเรียกไปตักเตือนในที่สุด การที่เรามีความพยายามที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยไม่ก่นด่าความผิดพลาดของตัวเองอยู่ร่ำไป นับเป็นการเคารพและให้เกียรติตัวเองทางหนึ่ง ซึ่งจะนำมาซึ่งหนทางสู่การพัฒนาตนเองลำดับถัดไป

 

 

4.ซ่อมแซมความรู้สึก

หลังจากที่ยอมรับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงค้นหาความผิดพลาดของตัวเองเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับถัดมา คือการซ่อมแซมความรู้สึกของตัวเองให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม นั่นก็คือการปล่อยวางอดีตที่ผ่านมาให้ได้ เพราะการที่เรายึดติดกับสภาวะอารมณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้วในอดีต ไม่ยอมปล่อยวางเสียทีนี่แหละ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้หลายๆ คนไม่หลุดพ้นจากความเครียดเสียที

เริ่มซ่อมแซมความรู้สึกของตัวเองด้วยการไม่ยึดติดกับเรื่องราวในอดีต มูฟออนไปข้างหน้า พร้อมที่จะเผชิญกับชีวิตในวันใหม่ หันเหความสนใจไปยังสิ่งใหม่ๆ ให้เวลาตัวเองได้สะสมความรู้สึกดีๆ จากการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เพื่อให้ความทรงจำดีๆ และประสบการณ์ดีๆ เหล่านี้ไปอุดรูรั่วทั้งหลายในใจ แล้วภาวะคิดมากทั้งหมดทั้งมวลก็จะค่อยๆ มลายหายไปเอง

Advertisements

Advertisements

Advertisements