Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากความกดดันและความเครียดจากการทำงานเป็นเหตุ จนทำให้หลายๆ คนคิดว่าเป็นแขนงหนึ่งของโรคซึมเศร้า ความจริงแล้ว ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นเพียงอาการเครียด คิดลบ หดหู่ และขาดแรงจูงใจในการทำงานเท่านั้น สามารถป้องกันอย่างตรงจุดได้ง่ายๆ โดยการปรับสมดุลชีวิตให้บาลานซ์ในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ดี หากไม่ได้รับการเยียวยาอาการเบื่องานอย่างเกิดผล ความวิตกกังวลที่มากเป็นพิเศษ ก็อาจนำพาไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
หากเพื่อนๆ รู้สึกว่า ช่วงนี้ตัวเองเริ่มทำงานได้ช้าลง ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ท้อแท้กับงานที่ทำมากขึ้นเรื่อยๆ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด อาจมีอาการปวดศีรษะ หรือนอนไม่หลับร่วมด้วย นั่นคือสัญญาณที่ร่างกายเริ่มบ่งบอกว่าเพื่อนๆ กำลังอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome แล้วนะคะ ถ้าเป็นเช่นนั้นล่ะก็ อย่ามัวรอช้า ตาม UndubZapp มาปรับสมดุลชีวิต ดีลภาวะ Burnout ให้ตรงจุดกันเลยค่ะ
1.เช็ก Passion ในการทำงาน
เริ่มต้นปรับสมดุลชีวิต ดีลภาวะ Burnout อย่างตรงจุดด้วยการทบทวนเป้าหมายในการทำงานอีกครั้ง หากเป็นไปได้ คุณอาจใช้เวลาช่วงวันหยุด พักร้อน หรือกระทั่งสุดสัปดาห์กับตัวเอง ปลีกวิเวกจากงานและสังคม เพื่อเยียวใจ และเช็ก Passion ในการทำงานอีกหน เป้าหมายในการทำงานของคุณคืออะไร คุณกำลังมุ่งไปตามทางที่คุณตั้งเป้าไว้อยู่หรือไม่ หรือตอนนี้คุณหักหลบจากเส้นทางความฝันมาไกลโขแล้ว การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเงียบๆ ยังช่วยให้คุณได้ชาร์จแบตฯ ให้ร่างกายอย่างเหมาะสม ดีไม่ดี คุณอาจได้พลังใจกลับมาแบบเต็มสูบตั้งแต่ขั้นตอนนี้แล้วก็ได้ แต่ถ้าการทบทวนชีวิตยังไม่เวิร์คล่ะก็ ลองวิธีถัดไปต่อเลยค่ะ
2.พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นเรื่องที่เหมือนจะง่าย แต่กลับทำได้ยากยิ่งในชีวิตจริง เนื่องจากคนที่อยู่ในภาวะเครียดส่วนใหญ่จะนอนไม่ค่อยหลับ ตกดึกทีไรมีเรื่องให้ต้องขบคิดวุ่นวายไปหมด ลองใช้วิธีปรับสมดุลร่างกายไปทีละนิด การรีบร้อนพักผ่อนให้เพียงพอแบบฉับพลัน จากเดิมทีที่เคยนอนหลับไม่เป็นเวลามาก่อน อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดความเครียดมากกว่าเดิมได้ ดังนั้น ค่อยๆ ขยับเวลาเข้านอนให้เร็วขึ้นทีละนิด งดทำงานและงดสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลอย่างน้อยๆ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หันไปทำกิจกรรมคลายเครียดตามใจชอบ เพื่อลดช่องทางรับข้อมูลเครียดๆ ให้ร่างกายได้ผ่อนคลายอย่างแท้จริง
Advertisements
3.ดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน
นอกจากการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดความเครียดทั้งหลายให้พ้น อาทิ บุหรี่ แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนทุกชนิด แล้วหันมารับประทานที่มีประโยชน์ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว รวมถึงออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมน แม้ว่าวิธีการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานจะเป็นเรื่องที่ฟังดูดาษดื่น และไม่น่าจะช่วยอะไรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิธีดังกล่าวนี่แหละคือการแก้ปัญหาจากต้นเหตุอย่างแท้จริง และน้อยคนมากๆ ที่จะสามารถปฏิบัติตามวิธีการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานได้สม่ำเสมอ หากคุณสามารถปฏิบัติตนตามวิธีดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานได้เป็นนิจ ร่างกายก็จะเกิดความสมดุล ทำให้คุณรับมือกับภาวะต่างๆ ได้ดีขึ้น
4.ไม่ทำงานนอกเวลางาน
การนำงานกลับมาทำที่บ้านถือเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ใครหลายๆ คนเกิดความเครียดสะสม เนื่องจากร่างกายไม่มีเวลาได้พักเบรกจากเรื่องยุ่งวุ่นวายทั้งหลาย ชาร์จแบตฯ ร่างกายให้ตรงจุด ด้วยการไม่ทำงานนอกเหนือจากเวลางาน หยุดคิดเรื่องงานในเวลาพักผ่อน วิธีนี้ถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่จะนำพาคุณออกจากวังเวียนของความเครียดได้ เพราะบางคนดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานดีทุกอย่าง แต่กลับมาตกม้าตายเอาดื้อๆ ตรงที่ไม่มีสมดุลชีวิตในการทำงานนี่แหละ การจัดระเบียบให้กับการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนบ้างานแค่ไหน ลุยงานให้หนักหน่วงเฉพาะชั่วโมงทำงานตามที่บริษัทกำหนดก็พอ นอกเหนือจากเวลาดังกล่าว ควรปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อนตามสมควร อาจเป็นการเดินทางท่องเที่ยว เล่นเกมส์ หรืออ่านหนังสือก็ได้
5.ปรับทัศนคติในการทำงาน
ความเครียดซึ่งก่อตัวจากการทำงานของใครหลายๆ คน บางทีมีสาเหตุมาจากทัศนคติที่แตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติต่อองค์กร เนื้องาน รวมถึงบุคลากรก็ตามที ซึ่งสิ่งนี้สามารแก้ได้โดยการเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความเป็นจริงให้ได้ คุณต้องทำความเข้าใจว่าคนทุกคนล้วนแตกต่าง จะให้คนแต่ละคนทำงานด้วยทัศนคติเดียวกัน หรือวิธีเดียวกันทุกกระเบียดนิ้วอาจเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย การยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน หรือเนื้องานแต่ละอย่างจึงเป็นสิ่งสำคัญ พยายามเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่นอยู่เสมอ อย่ายัดเยียดทัศนคติของตนเอง หรือบังคับให้ใครเห็นพ้องด้วย บางทีการยอมรับว่าเราไม่รู้ ก็ช่วยให้แต่ละฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้นเช่นกัน อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
Advertisements