รู้ไว้ปลอดภัยกว่า!! เปิด 7 วิธีเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ ทักษะที่ทุกคนควรรู้

 

UndubZapp เชื่อว่าอุบัติเหตุทางน้ำไม่ใช่เรื่องไกลตัวทุกคน จึงอยากแชร์ 7 วิธีเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ ถ้าคุณประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางทางน้ำ เรือล่ม หรือเจอวิกฤตน้ำท่วมสูงฉับพลัน คุณควรทำอย่างไร ไปดูกันค่ะ โดยข้อปฏิบัติบางส่วนนั้นเป็นคำแนะนำจาก ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

1.ตั้งสติให้ดี

พอยท์สำคัญที่จะช่วยให้คุณมีโอกาสรอดชีวิตจากอุบัติเหตุทุกประเภทได้ คือ คุณจำเป็นต้องตั้งสติให้ดีๆ โดยเฉพาะในยามคับขันที่เป็นเหตุให้หลายๆ คนแตกตื่นได้ง่าย จนไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรก่อน เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น พยายามผ่อนคลาย หายใจเข้า-ออกลึกๆ แล้วรวบรวมสติให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงหาทางหนีทีไล่ พิจารณาความเป็นไปได้ในหลายๆ ทาง

 

2.พยายามลอยตัวนิ่งๆ

เมื่อรวบรวมสติได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับถัดมาคือ ลอยตัวนิ่งๆ เนื่องจากการดิ้นรนเอาชีวิตรอดโดยการตะเกียกตะกายให้ตนเองลอยเหนือผิวน้ำ อาจส่งผลด้านร้ายมากกว่าด้านดี เพราะความแพนิกทำให้สูดอากาศเข้าไปได้ไม่เต็มที่ ไม่นานก็หมดแรง กลายเป็นการเร่งให้จมน้ำเร็วขึ้น ดังนั้น พยายามลอยตัวนิ่งๆ หายใจให้ได้เป็นปกติ เพื่อคงสภาพทางเดินหายใจ จะปลอดภัยกว่า

 

 

3.หาวัสดุที่ลอยน้ำได้ไว้ยึดเกาะ

 

  • กรณีที่คุณประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางทางน้ำ หรือเรือล่ม ให้รีบมองหาวัสดุที่ลอยนำได้ให้ไวที่สุด เพื่อยึดเกาะเอาไว้ เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดปลอดภัย อาทิ เสื้อชูชีพ ห่วงยาง เรือบด แพยาง เศษซากของเรือ ขวดน้ำ กระติกน้ำ ทุ่นกลางทะเล

 

  • กรณีที่คุณจำเป็นต้องกระโดดลงจากเรือ ให้ใช้แขนกอดหน้าท้องข้างหนึ่ง แล้วใช้มือจับศอกของแขนอีกข้างที่บีบจมูก จากนั้นกระโดดลงน้ำโดยใช้ขาลงน้ำก่อน สำคัญว่าต้องสำรวจน้ำก่อนกระโดดลงน้ำทุกครั้ง ป้องกันไม่ให้ตัวคุณเองกระโดดไปทับผู้อื่นหรือวัตถุอื่นๆ ซึ่งอาจสร้างบาดแผลให้กับตัวคุณได้

 

  • กรณีที่เรือเป็นเรือลำใหญ่ ให้รีบว่ายน้ำออกห่างจากเรือให้ไวที่สุด เนื่องด้วยเวลาเรือลำใหญ่จมจะมีแรงดูดเยอะ การว่ายให้พ้นจากเรือจะช่วยไม่ให้คุณโดนแรงเรือดูดลงไปด้วย

 

4.เก็บแรงให้ไว้ให้มากที่สุด

ถ้าคุณตกน้ำแล้วไม่มีวัสดุที่ลอยน้ำได้ให้ยึดเกาะ พยายามยืดแขน-ขาออก อย่าเกร็ง และลอยตัวขนานกับน้ำ เพื่อเก็บแรงไว้ให้มากที่สุด ถ้าคุณอยู่ในทะเล ให้หายใจเข้า-ออกตามจังหวะคลื่น คงสภาพทางเดินหายใจให้เป็นปกติที่สุด จะได้มีแรงเหลือ

 

5.ป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายลดลง

นอกจากจมน้ำแล้ว ภาวะตัวเย็น (Hypothermia) ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ซึ่งภาวะตัวเย็นนี้เป็นภาวะที่อุณหภูมิร่างกายตํ่ากว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเกิดได้จากการแช่อยู่ในน้ำเย็นๆ นานๆ ทำให้อุณภูมิร่างกายลดลง จนร่างกายช็อค และหยุดทำงาน เพราะฉะนั้นแล้ว คุณจึงควรใส่เสื้อผ้าให้ครบชิ้นอยู่เสมอ เพื่อคงความอบอุ่นให้ร่างกาย แม้ว่าเสื้อผ้าของคุณจะเปียกชุ่มก็ไม่ควรถอด

 

  • กรณีที่คุณลอยคออยู่คนเดียว หรือเกาะวัสดุที่ลอยน้ำได้อยู่ ให้พยายามกอดเข่าชิดอก เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้

 

  • กรณีที่คุณลอยคออยู่กับคนอื่นๆ หรืออยู่ในแพยาง ให้พยายามนั่งเบียดๆ กันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณภูมิร่างกายลดลง

 

Advertisements

6.ว่ายน้ำเข้าฝั่ง

 

  • กรณีที่คุณตกแม่น้ำ หรืออยู่ในบริเวณที่สามารถมองเห็นฝั่งได้ ให้คุณค่อยๆ ว่ายเฉียงตามน้ำเข้าฝั่งทีละน้อย อย่าเร่งรีบเสียจนทำอะไรไม่ถูก การมีเป้าหมายจะช่วยให้คุณไม่แพนิกจนเกินไป แต่ก็อย่าลืมว่าการว่ายสวนกระแสน้ำเป็นไปได้ยาก จึงควรประเมินดูก่อนว่าพอจะว่ายไปได้หรือเปล่า

 

  • กรณีที่คุณใส่เสื้อชูชีพอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลว่าจะจมน้ำ ให้ครองสติและว่ายไปหาฝั่งที่ใกล้ตัวที่สุด โดยใช้แขนแบบเวลาว่ายน้ำท่ากรรเชียงเป็นหลัก คอยกวาดน้ำประคองตัวเอาไว้ ใช้ขาเหยียดออกไปถีบสิ่งกีดขวาง ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้คุณเข้าฝั่งได้สำเร็จ แม้ว่าจะว่ายน้ำไม่เป็นก็ตาม ระหว่างที่คุณว่ายเข้าฝั่งก็ควรสังเกตรอบด้าน เผื่อว่าสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากเรือที่สัญจรผ่านไปมาได้

 

  • กรณีที่คุณมีนกหวีดอยู่ที่เสื้อชูชีพ ให้เป่านกหวีดขอความช่วยเหลือ จะช่วยให้ผู้อื่นพบตัวคุณได้ง่ายกว่าการตะโกนเรียก

 

ข้อแนะนำ พยายามหลีกเลี่ยงการว่ายผ่านบริเวณที่มีผักตบชวา เพราะผักเหล่านี้อาจมาพันแข้งพันขา ส่งผลให้คุณสูญเสียการทรงตัวได้ง่าย

 

7.ตรวจสอบความปลอดภัย

เมื่อขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย หรือได้รับความช่วยเหลือแล้ว ให้คุณรีบตรวจสอบความปลอดภัย สำรวจร่องรอยบาดเจ็บของตนเองโดยด่วน ดูว่าร่างกายคุณมีเลือดออกบริเวณใดบ้าง แขน-ขาหักหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องเร่งปฐมพยาบาลโดยไว แต่ถ้าคุณไม่พบอาการผิดปกติ ให้ลองดูว่าคุณสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ได้ไหม เพราะบางคนอาจบาดเจ็บสาหัส และต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

 

ข้อแนะนำ ถ้าคนใกล้ตัวไม่บาดเจ็บทางกาย แต่ได้รับการกระทบกระเทือนทางใจ เช่น ช็อกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณสามารถพูดคุย ปลอบโยน ให้กำลังใจได้ว่าเดี๋ยวเราก็ปลอดภัย หรือบอกให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณจะไม่ทิ้งเขาไปไหน

 

©ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :

wikiHow

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ Thon Thamrongnawasawat

 

©Featured image : Unsplash

 

 

 

Advertisements

Advertisements

Advertisements